กล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) รักษาก่อนร้ายแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) รักษาก่อนร้ายแรง
แชร์

กล้ามเนื้ออ่อนแรงมีหลายประเภท แต่ที่พบค่อนข้างบ่อยคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท MG (Myasthenia Gravis) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด


กล้ามเนื้ออ่อนแรง
(MG) คืออะไร

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis : MG) เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจึงเข้าไปยับยั้งการสื่อผ่านกระแสประสาทบริเวณรอยต่อระหว่างปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มักพบบริเวณดวงตา ปาก ใบหน้า แขน ขา อาจร้ายแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด


อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) เป็นอย่างไร

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ 

  • หนังตาตก ทำให้เห็นภาพซ้อนและโฟกัสภาพไม่ได้ 
  • พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก 
  • เคี้ยวหรือกลืนลำบาก สำลักได้ง่าย 
  • แขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่สะดวก 
  • เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ตรวจเช็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ได้อย่างไร

หากสงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ควรเข้ารับการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนใหญ่จะเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT Chest) เพื่อหาภาวะต่อมไทมัสโตผิดปกติหรือเนื้องอกต่อมไทมัส  ตรวจระบบประสาท ตรวจการหดตัวของกล้ามเนื้อ ตรวจประเมินหนังตาตก ตรวจหาโรคร่วม และตรวจอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม


กล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) รักษาก่อนร้ายแรง

วิธีการรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG)

ปัจจุบันสามารถรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) โดยใช้ยาที่ช่วยลดการทำลายสารสื่อประสาทบริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกต่อมไทมัสควรต้องเข้ารับการผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีเนื้องอก บางกรณีแพทย์อาจประเมินว่าควรเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากช่วยให้อาการดีขึ้นและลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย สิ่งสำคัญเมื่อเป็นโรคนี้คืออย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด


ผ่าตัดส่องกล้องต่อมไทมัสฟื้นตัวไว

การผ่าตัดต่อมไทมัสเดิมจะเป็นการผ่าตัดเปิดกระดูกบริเวณหน้าอกจึงทำให้เจ็บและพักฟื้นนาน แต่ปัจจุบันสามารถผ่าตัดต่อมไทมัสด้วยการส่องกล้อง (Video Assisted Thoracoscopic Surgery; VATS thymectomy) แผลมีขนาดเล็ก พักฟื้นไม่นาน ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการผ่าตัดต่อมไทมัสช่วยให้ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและคลายความกังวลเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด


แพทย์ที่ชำนาญการรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยศาสตร์ทรวงอก แพทย์ผู้ชำนาญด้านการส่องกล้องโรคปอดแผลเล็ก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG)

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ด้วยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทาง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี

แชร์