อกบุ๋ม รักษาให้ไวเรียกความมั่นใจกลับมา

อกบุ๋ม รักษาให้ไวเรียกความมั่นใจกลับมา
แชร์

อกบุ๋มเป็นความผิดปกติที่มักไม่แสดงอาการ แต่ทำให้เสียบุคลิกภาพและขาดความมั่นใจในตนเอง จึงไม่แปลกใจที่หากพบตั้งแต่เด็กควรรีบรักษาโดยเร็ว หากปล่อยไว้นานนอกจากยิ่งรักษายากแล้ว ยังทำให้ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต

อกบุ๋มคืออะไร 

อกบุ๋ม (Pectus Excavatum) เป็นภาวะความผิดรูปของผนังทรวงอก เกิดจากการเติบโตผิดปกติของกระดูกอ่อนที่เชื่อมกระดูกหน้าอกและกระดูกซี่โครง ส่งผลให้หน้าอกยุบตัวกลายเป็นอกบุ๋ม ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่สูญเสียความมั่นใจในบุคลิกภาพ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติรุนแรงอาจไปกดเบียดปอดหรือหัวใจ หากกดเบียดลิ้นหัวใจอาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่วได้ 


สาเหตุอกบุ๋มคืออะไร 

สาเหตุการเกิดอกบุ๋มนั้นไม่ชัดเจน แต่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักมีโอกาสเป็นกระดูกสันหลังคดร่วมด้วย โดยปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนให้พบอกบุ๋มได้ตั้งแต่แรกเกิด เช่น ความอ่อนแอของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เส้นเอ็นทั่วร่างกายหย่อนแต่กำเนิด เป็นต้น โดยอกบุ๋มจะปรากฏชัดเจนในช่วงอายุ 8 – 12 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะกับการรักษา


อาการอกบุ๋มเป็นอย่างไร

อาการอกบุ๋มที่ควรมาพบแพทย์โดยเร็ว ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • เหนื่อยง่าย
  • หายใจไม่สุด
  • ออกกำลังกายได้น้อยลง
  • ขาดความมั่นใจในตนเอง

อกบุ๋ม รักษาให้ไวเรียกความมั่นใจกลับมา 

ตรวจวินิจฉัยอกบุ๋มได้อย่างไร

การตรวจวินิจฉัยอกบุ๋มประกอบไปด้วย 

  1. CT SCAN ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ โดยภาพที่ได้จะมีความละเอียดสูง สามารถเห็นโครงสร้างกระดูกว่าบุ๋มหรือนูน เอียงไปด้านไหน และรุนแรงมากแค่ไหน  
  2. ตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test – PFT) เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงในกรณีที่สงสัยว่ากระดูกกดเบียดปอดหรือไม่ 
  3. ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อเช็กว่าลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่ 

วิธีการรักษาอกบุ๋ม

การรักษาอกบุ๋มสามารถรักษาได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัดได้แก่

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เหมาะกับผู้ที่มีภาวะอกบุ๋มไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ตั้งแต่เด็กอายุ 8 – 12 ปี โดยจะใช้อุปกรณ์ดูดผนังทรวงอก (Vacuum Bell) ดูดบริเวณหน้าอกที่ยุบให้ขึ้นมา วิธีนี้ใช้เวลารักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป ประมาณ 1 – 2 ปีจึงจะเห็นผล
  2. การรักษาแบบผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษา มี  2 แบบ ได้แก่ 
    • การผ่าตัดแบบเปิด (Ravitch Procedure, Sternal Turnover) เป็นวิธีที่ใช้มานาน โดยจะตัดกระดูกที่หน้าอกแล้วพลิกกลับมา หรือตัดบริเวณกระดูกอ่อนแล้วดันขึ้นมา 
    • การผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก (Nuss Procedure) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องโดยใช้แท่งโลหะผ่านใต้กระดูกหน้าอก จากนั้นจะดัดกระดูกประมาณ 3 – 4 ปี ก่อนจะนำเหล็กออก วิธีนี้ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและฟื้นตัวได้ไว

อกบุ๋ม รักษาให้ไวเรียกความมั่นใจกลับมา 

หลังผ่าตัดดูแลตนเองอย่างไร

เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน แนะนำให้ลดการยกของหนัก เลี่ยงการเล่นกีฬาที่ใช้การปะทะ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น แนะนำให้ออกกำลังกายแบบเบา ๆ อย่างการวิ่งหรือว่ายน้ำเป็นเวลา 6 เดือน


อกบุ๋มไม่รักษาได้ไหม

แม้อกบุ๋มจะไม่มีอาการรุนแรง แต่ทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิกภาพ สูญเสียความมั่นใจตั้งแต่เด็ก ไม่อยากเข้าสังคม ไม่กล้าใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นหากรักษาอกบุ๋มแล้วจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยในการใช้ชีวิตอีกทั้งช่วยให้หายใจได้สะดวก


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาอกบุ๋ม

นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยศาสตร์ทรวงอก แพทย์ผู้ชำนาญด้านการส่องกล้องโรคปอดแผลเล็ก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาอกบุ๋ม

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาภาวะอกบุ๋ม ด้วยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทาง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย พร้อมดูแลผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com