กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากภาวะลองโควิด

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากภาวะลองโควิด
แชร์

โควิด-19 มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับโรคหัวใจ หากป่วยด้วยโรคหัวใจและติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้อาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าคนทั่วไป ผลโดยตรงของการติดเชื้อโควิด-19 ต่อหัวใจนั้น ขณะที่ได้รับเชื้อและร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 อาจมีภาวะที่เรียกว่า เกิดภูมิต้านทานของตัวเองต่อกล้ามเนื้อหัวใจและต่อเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงและการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนว่าเจอมากน้อยเพียงใด แต่ในบางการศึกษารายงานการเสียชีวิตที่เกิดจากภาวะหัวใจโดยตรงจากการติดเชื้อโควิด-19 พบได้ถึง 7 – 10% และในผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรงพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้มากถึง 40% 


กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบกับวัคซีนโควิด-19

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบได้ไม่บ่อยนักและส่วนมากพบได้ในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งจากรายงานพบว่าภาวะดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความรุนแรงและพบได้หลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3 วันจนถึง 2 สัปดาห์ เกือบทั้งหมดตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยจากการเจาะเลือดหรือตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเกือบทั้งหมดหายได้เองและหายสนิท ซึ่งตัวเลขจากการศึกษาพบเพียงประมาณ 1 ใน 100,000 ถึง 200,000 คน


โรคหัวใจกับภาวะลองโควิด

ภาวะอาการทางโรคหัวใจที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) จากรายงานพบว่า อาการที่อาจพบร่วมด้วยของการเป็นโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าพบอุบัติการณ์ของการเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังติดเชื้อโควิด-19 มากน้อยเพียงใด แต่พบน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการมีภาวะแทรกซ้อนขณะที่กำลังมีการติดเชื้อโควิด-19


อาการโรคหัวใจหลังติดเชื้อโควิด-19

อาการของคนที่มีภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) ที่แสดงออกทางด้านของหัวใจอาจจะมีอาการหลงเหลืออยู่ของภาวะใจสั่น เหนื่อย เพลีย หรือบางครั้งอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ลักษณะการเจ็บหน้าอกไม่เฉพาะเจาะจง บางคนมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่อาจมีการตรวจเลือด หรือทำภาพสแกน หรือ MRI เพื่อดูความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจและยังไม่มีมาตรฐานการรักษาที่ชัดเจนในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์โรคหัวใจ

อย่างไรก็ตามเมื่อหายจากโควิด-19 ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กทันที โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com