คลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG)

diagnosis
Noninvasive Diagnostic Service
Electrocardiogram หรือที่เราพูดกันสั้น ๆ หรือได้ยินคุ้นหูกันว่า ECG or EKG เป็นวิธีการตรวจทางหัวใจที่มีต้นกำเนิดมายาวนานที่สุด สามารถตรวจได้ง่ายที่สุดและรวดเร็วที่สุด ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถให้คำตอบเบื้องต้นรวมถึงให้การวินิจฉัยแก่ผู้มารับการตรวจ
table of contents

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG) คืออะไร?

ขั้นตอนวิธีการตรวจ ECG เป็นอย่างไรและใช้เวลาในการทำนานแค่ไหน

ECG บอกหรือสื่ออะไรเกี่ยวกับหัวใจของเรา?

อันตรายหรือความเสี่ยงจากการทำ ECG คืออะไร? 

ECG ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ 

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG) คืออะไร?

Electrocardiogram หรือที่เราพูดกันสั้น ๆ หรือได้ยินคุ้นหูกันว่า ECG or EKG เป็นวิธีการตรวจทางหัวใจที่มีต้นกำเนิดมายาวนานที่สุด สามารถตรวจได้ง่ายที่สุดและรวดเร็วที่สุด ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถให้คำตอบเบื้องต้นรวมถึงให้การวินิจฉัยแก่ผู้มารับการตรวจ   ECG เป็นเหมือนปราการด่านแรกสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจและเป็นตัวชี้นำในการนำไปสู่การตรวจทางหัวใจให้เหมาะสมกับโรคหรือภาวะที่เราสงสัยได้อย่างถูกต้อง

Electrocardiogram (EKG)

 

ขั้นตอนวิธีการตรวจ ECG เป็นอย่างไรและใช้เวลาในการทำนานแค่ไหน

ขั้นตอนการตรวจเริ่มต้นจากการให้ผู้รับการตรวจนอนลงบนเตียงที่ได้จัดเตรียมไว้ในห้องตรวจที่ปิดอย่างมิดชิด จากนั้นเจ้าหน้าที่ จะทำการป้ายเจลปริมาณเล็กน้อยลงบนบริเวณหน้าอก ข้อมือและข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นจะทำการติดแผ่น Electrode ที่บริเวณหน้าอก 6 จุด และที่ข้อมือและข้อเท้าทั้ง 2 ข้างอย่างละจุด หลังจากนั้นเครื่องจะทำการประมวลผลและแสดงผลออกมาเป็นกราฟไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้แพทย์ได้อ่านผล โดยใช้เวลาในการตรวจทั้งสิ้นประมาณไม่เกิน 5 นาที

 
Electrocardiogram (EKG)

 

ECG บอกหรือสื่ออะไรเกี่ยวกับหัวใจของเรา?

ECG สามารถสื่อถึงการนำไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อหัวใจของเรา, อัตราการเต้นของหัวใจ, จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ โดยที่ในแต่ละส่วนของกราฟไฟฟ้าหัวใจจะช่วยบอกถึงความสัมพันธ์ในการทำงานของหัวใจห้องบนและห้องล่าง อีกทั้งยังสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้อีกมากมาย อาทิเช่น

  1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction)
  2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวผิดปกติจากสาเหตุต่าง ๆ  (Left Ventricular Hypertrophy)
  3. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดต่าง ๆ  (Cardiomyopathy)
  4. โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
  5. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งแบบเต้นช้าผิดจังหวะ (Bradyarrhythmias) หรือแบบเต้นเร็วผิดจังหวะ (Tachyarrhythmias)
  6. โรคของเกลือแร่ที่ผิดปกติบางชนิด เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงหรือต่ำ

นอกจากนี้ในเครื่องมือสำหรับการตรวจหัวใจประเภทอื่นล้วนมี ECG เข้าไปเกี่ยวเนื่องด้วยเสมอ เช่น การเดินสายพาน (Exercise Treadmill Stress Test), การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (24 Hours Holter Monitoring), Cardiac CT Scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์), Cardiac MRI (เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า), การทำหัตถการฉีดสีสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) และ Tilt Table Test

อันตรายหรือความเสี่ยงจากการทำ ECG คืออะไร? 

การตรวจ ECG เป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายและสะดวก ไม่เจ็บและแทบจะไม่มีความเสี่ยงหรืออันตรายจากการทำเลย นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ เป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร สามารถเข้ารับการตรวจได้ตลอดเวลา

ECG ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ 

ในปัจจุบันจะมีผู้เข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพและโรงพยาบาลกรุงเทพมากกว่า 70,000 รายต่อปีและอัตราผู้เข้ารับการตรวจเป็น ปริมาณ เพิ่มขึ้นทุกปีดังกราฟที่แสดงในรูปซ้ายมือ ทั้งนี้เรามีบุคลากรที่มีความชำนาญในการตรวจและสามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่กราฟไฟฟ้าหัวใจของผู้รับการตรวจทุกรายนี้จะถูกทำการบันทึกใน PACS System ของโรงพยาบาล ซึ่งมีประโยชน์ในการค้นหาผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ภายในโรงพยาบาลเพื่อดูข้อมูลหรือเพื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังเข้ารับการรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย



Electrocardiogram (EKG)

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com

ดูบริการอื่น ๆ