การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

diagnosis
Invasive Diagnostic Service
การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ คือ หัตถการที่มีการรุกล้ำร่างกาย ใช้ตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ การตรวจนี้ใช้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติ หาตำแหน่งในหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ และเป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นผิดปกติที่มีประสิทธิภาพสูง
table of contents

การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจคืออะไร

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

สถานที่ในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ความเสี่ยงของการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้า

ขั้นตอนการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

คำถามหรือข้อสงสัยหลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเมื่อกลับบ้าน

อาการผิดปกติที่ควรรีบพบหรือปรึกษาแพทย์

การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจคืออะไร

หัตถการที่มีการรุกล้ำร่างกาย ใช้ตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ การตรวจนี้ใช้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติ หาตำแหน่งในหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ และเป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นผิดปกติที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทั่วไปแพทย์จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจเต้นผิดปกติคร่าว ๆ จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการผิดปกติ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่หัวใจทำงานมากกว่าปกติ โดยการให้ยากระตุ้นหรือการออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานเลื่อน การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เพื่อช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติก่อนการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • ทราบถึงจุดกำเนิดและชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
  • เพื่อให้มีความเข้าใจในหัวใจเต้นผิดปกติชนิดนั้น ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการเลือกวิธีการรักษาหรือยาที่เหมาะสม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
  • ถ้าหากทราบถึงจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ สามารถทำการจี้รักษาต่อได้เลย
  • ผู้ป่วยบางรายที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงระดับปานกลางและมีหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควร แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูว่าจะมีโอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ ถ้าหากกระตุ้นหัวใจแล้วนำไปสู่การเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเต้นหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้า
  • ช่วยตรวจหาสาเหตุการเกิดภาวะเป็นลมหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
  • เพื่อตรวจหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแสดงดังนี้ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม อ่อนแรง ใจสั่น หรือ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติต่าง ๆ ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นความผิดปกติชนิดใดจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเป็นกรณีไป

การจี้รักษาคืออะไร

หลังจากที่ทราบชนิดและจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เต้นผิดปกติแล้ว ถ้าหากเป็นหัวใจเต้นผิดปกติที่รักษาได้ด้วยการจี้รักษา แพทย์จะใส่สายสวนพิเศษเข้าไปในหัวใจและวางในตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ ต่อจากนั้นจะส่งคลื่นวิทยุผ่านทางสายสวนพิเศษเพื่อไปทำลายจุดกำเนิดที่ผิดปกตินั้น สามารถใช้รักษาหัวใจเต้นผิดปกติหลายชนิด เช่น หัวใจเต้นผิดปกติจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนหรือระหว่างห้องบนและล่าง หัวใจห้องบนเต้นพริ้ว และหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควรและเร็วกว่าปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง

สถานที่ในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ตรวจที่ห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งก็คือห้องปฏิบัติการสวนหัวใจแต่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา และใช้เครื่องแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจกับเครื่องแสดงภาพภายในของหัวใจ

ความเสี่ยงของการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงต่อชีวิตพบได้น้อยมาก โดยทั่วไปเป็นหัตถการที่ค่องข้างปลอดภัย ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้แต่ไม่มากมีดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกหรือการอักเสบติดเชื้อที่ใส่สายสวนที่ขาหนีบ
  • ความเสียหายต่อเส้นเลือดดำหรือแดงที่ใส่สายสวน
  • กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาดและก่อให้เกิดเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งจะต้องทำการเจาะเอาเลือดออกโดยเร่งด่วน
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • การเกิดลิ่มเลือดขณะตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหรือการจี้รักษาแล้วนำไปสู่การอุดตันของเส้นเลือดในสมอง
  • การสัมผัสรังสีเอ็กซเรย์ โดยเฉพาะในภาวะตั้งครรภ์
  • การกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติ
  • การแพ้สารทึบรังสีหรือยาบางชนิด
  • โอกาสเสียชีวิตน้อยมาก

การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้า

  • ผู้ป่วยต้องงดอาหารและเครื่องดื่มก่อนการตรวจ 6 – 8 ชั่วโมง อาจดื่มน้ำได้บ้างเมื่อต้องรับประทานยา เมื่อกระหายน้ำอาจอมน้ำกลั้วคอแต่ไม่ควรกลืนลงไป
  • ควรปรึกษาแพทย์ว่าจำเป็นต้องงดยาชนิดใดที่ใช้อยู่หรือไม่
  • ผู้ป่วยควรอาบน้ำทำความสะอาดบริเวณขาหนีบและต้นขาทั้ง 2 ข้าง
  • ให้มีญาติหรือเพื่อนมาส่งคุณในวันนัดทำหัตถการและมีคนมารับคุณกลับบ้าน ซึ่งอาจจะเป็นวันเดียวกันหรือวันถัดไป
  • หากคุณใส่เครื่องช่วยการได้ยิน ให้คุณใส่มาในวันนัดทำหัตถการ หากปกติคุณใส่แว่นตา ให้นำแว่นตามาด้วย

ขั้นตอนการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • เริ่มด้วยการเจาะเลือดที่แขนเพื่อใส่สายน้ำเกลือและให้ยา
  • เจ้าหน้าที่จะโกนขนบริเวณขาหนีบและตามด้วยการทำความสะอาดบริเวณนั้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  • ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อให้ผ่อนคลาย และง่วงนอน
  • เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นรับสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อเฝ้าดูจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจตลอดเวลา
  • แพทย์จะฉีดยาชาที่บริเวณขาหนีบข้างเดียวหรือสองข้าง เพื่อจะใส่สายสวนพิเศษเข้าทางหลอดเลือดดำไปที่หัวใจ หลังจากที่ได้จัดวางสายสวนพิเศษในตำแหน่งต่าง ๆ ของหัวใจ อุปกรณ์เหล่านี้จะต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรับและแปลงสัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้ แพทย์จะประเมินการนำสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ
  • แพทย์จะกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นเพื่อชักนำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเพื่อทำการศึกษาและรักษาต่อไป แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจพิเศษไปยังตำแหน่งที่มีคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ และจะส่งคลื่นวิทยุไปทำลายตำแหน่งนั้น ๆ เมื่อหัตถการสำเร็จเสร็จสิ้น แพทย์จะดึงสายสวนออกจากร่างกายผู้ป่วยและจะกดบริเวณที่ถอดสายสวนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกเป็นเวลาประมาณ 10 – 15 นาทีกรณีที่เป็นหลอดเลือดดำ และนานประมาณ 30 นาทีกรณีที่เป็นหลอดเลือดแดง

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • หลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นที่ห้องพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้ภายในวันที่ตรวจหรืออาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 วัน
  • ผู้ป่วยต้องนอนราบเป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • เจ้าหน้าที่จะคอยดูแลตลอดและจะมาถามอาการและตรวจที่ขาหนีบเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติที่ขาหนีบ
  • หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มตื่น แพทย์จะมาอธิบายและสรุปผลการทำหัตถการให้ทราบ รวมถึงระยะเวลาการกลับไปทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามปกติ

คำถามหรือข้อสงสัยหลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ในขณะที่แพทย์อธิบายผลการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้า หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยหรือคำถาม ควรสอบถามแพทย์ ต่อไปนี้คือตัวอย่างคำถามที่ผู้ป่วยถามแพทย์ 

  • ผลการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเป็นอย่างไร หัวใจเต้นผิดปกติเกิดจากความผิดปกติคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดใดและตำแหน่งไหน ได้รับการจี้รักษาหรือไม่ หากไม่ได้รับการจี้รักษาหรือได้รับการจี้รักษาแล้ว จำเป็นต้องกินยารักษาต่อหรือไม่
  • ถามถึงแผนการรักษาในระยะยาว
  • ถามถึงผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น
  • มีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดฝังอุปกรณ์ที่ช่วยคุมอัตราการเต้นหัวใจหรือปรับจังหวะการเต้นหัวใจด้วยการช็อกไฟฟ้าหรือไม่

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเมื่อกลับบ้าน

  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • สามารถเปลี่ยนผ้าปิดแผลได้ทุกวัน อย่าให้แผลที่ขาหนีบโดนน้ำ
  • ควรกินยาตามคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ป่วยต้องงดทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากหรือยกของหนักเป็นเวลา 5 – 7 วัน
  • ผู้ป่วยไม่ควรแช่น้ำในอ่างน้ำหรือในสระน้ำเป็นเวลา 5 – 7 วัน
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแผลบริเวณขาหนีบที่ใส่สายสวนอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจมีแผลฟกช้ำหรือนูนขึ้นเล็กน้อย

อาการผิดปกติที่ควรรีบพบหรือปรึกษาแพทย์

  • มีอาการปวด บวม หรือฟกช้ำมากขึ้น หรือมีเลือดออกที่ขาหนีบบริเวณที่ใส่สายสวน
  • ถ้าหากมีเลือดออกที่บริเวณขาหนีบที่ใส่สายสวน ผู้ป่วยควรนอนราบและกดห้ามเลือด และควรติดต่อแพทย์โดยเร็ว
  • มีอาการที่อาจแสดงถึงการอักเสบที่ขาหนีบบริเวณที่ใส่สายสวน เช่น มีไข้ มีปวด บวม แดง ร้อน หรือมีน้ำหรือหนองไหลออกมา
  • มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ หรือสี หรือเกิดการบวมที่ขา หรือแขนด้านที่เกี่ยวข้องกับหัตถการ
  • รู้สึกอ่อนแรงหรืออ่อนเพลียมาก
  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือหายใจติดขัด
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดเป็นลม

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com

ดูบริการอื่น ๆ