ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ CABG-Coronary Artery Bypass Grafting

treatment
Cardiovascular Surgery
การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส (CABG-Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งส่วนใหญ่มีการตีบหรือตันหลายเส้นของหลอดเลือดแดงของหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจจึงแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด เพราะไม่เพียงช่วยลดอัตราการเสียชีวิต แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
table of contents

CABG ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

ชนิดของหลอดเลือดเสริม

รูปแบบการผ่าตัด CABG

ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด CABG

ตรวจวินิจฉัยก่อนผ่าตัด

เตรียมตัวก่อนผ่าตัด

รักษาด้วยการผ่าตัด

ดูแลหลังผ่าตัด

ปัจจัยที่มีผลต่อผลการผ่าตัด

ทางเลือกอื่น ๆ ในการรักษา

CABG ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ, CABG

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจหรือที่นิยมเรียกกันว่า การผ่าตัดบายพาส (CABG-Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของทางเดินเลือดใหม่เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจในเส้นทางใหม่ โดยแพทย์จะต้องใช้หลอดเลือดเสริม (Graft) ด้านหนึ่งไปต่อที่ใต้จุดของหลอดเลือดหัวใจแดงเดิมที่มีการตีบหรือตัน และอีกด้านหนึ่งไปต่อกับหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ส่งผลให้เลือดจากหลอดเลือดแดงใหญ่เดินทางไปตามหลอดเลือดแดงเสริมเพื่ออ้อมการอุดตันและไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ในที่สุด
 
ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ, CABG

 

ชนิดของหลอดเลือดเสริม

หลอดเลือดเสริมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกับการรักษาระยะยาว แพทย์จึงต้องเลือกนำหลอดเลือดเสริมจากอวัยวะต่าง ๆ มาใช้อย่างเหมาะสม โดยหลอดเลือดแดงเสริมอายุการใช้งานจะนานกว่าหลอดเลือดดำเสริม ได้แก่

  1. หลอดเลือดแดงเสริม (Arterial Graft) ได้แก่
    • หลอดเลือดแดงหลังกระดูกหน้าอก ถูกนำมาใช้มากที่สุด เพราะอายุการใช้งานยาวนานที่สุด
    • หลอดเลือดแดงแขนท่อนระหว่างข้อมือและข้อศอกหรือหลอดเลือดแดงเรเดียล ในแขนแต่ละข้างจะมี 2 เส้นที่สามารถนำมาใช้ได้และนิยมนำมาใช้มากที่สุด
  2. หลอดเลือดดำเสริม (Vein Graft) ได้แก่
    • หลอดเลือดดำที่ขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านใน

 

ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ, CABG

 

รูปแบบการผ่าตัด CABG

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ CABG แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ โดยศัลยแพทย์หัวใจจะทำการวินิจฉัยและวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าผู้ป่วยควรจะต้องผ่าตัดแบบใด เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ได้แก่

1) การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Traditional Coronary Artery Bypass Grafting or On-Pump CABG) คือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม มาช่วยในการผ่าตัดเพื่อให้หัวใจหยุดเต้น

ข้อดีของการผ่าตัดแบบ On-Pump CABG

  • ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากหัวใจหยุดเต้น
  • เครื่องปอดหัวใจเทียมช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนทั่วร่างกายระหว่างการผ่าตัด

 
ผลข้างเคียงของการผ่าตัดแบบ On-Pump CABG

  • อาจเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เพราะเลือดผ่านเครื่องปอดหัวใจเทียมเพื่อเพิ่มออกซิเจนแล้วกลับไปในตัวผู้ป่วยใหม่
  • ส่งผลกระทบต่อเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด
  • มีผลต่อระบบการทำงานของปอด ไต และสมอง
  • การฟื้นตัวและการทำงานของหัวใจอาจลดลงหลังผ่าตัด

นอกจากนี้หากเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีเศษไขมันหรือคราบไขมันติดอยู่ตรงหลอดเลือดแดงใหญ่เออร์ต้าอยู่เดิมแล้ว เมื่อใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจทำให้เศษไขมันที่เกาะอยู่หลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ หรือฟองอากาศเล็ก ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งถ้าหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของสมองอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ 

2) การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary  Artery Bypass Grafting) (OPCAB) คือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ทำให้หัวใจไม่ต้องหยุดเต้น โดยใช้เครื่องมือช่วยให้บริเวณที่ผ่าตัดหยุดนิ่งพอที่ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้

ข้อดีของการผ่าตัดแบบ Off-Pump CABG 

  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากเครื่องปอดและหัวใจเทียม
  • ปริมาณเลือดที่ต้องใช้ในการผ่าตัดน้อยลง
  • ลดระยะเวลาผ่าตัดและดมยาสลบสั้นลง
  • ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง

ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบ Off-Pump CABG 

  • ศัลยแพทย์หัวใจต้องมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงในการผ่าตัด

 
ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ, CABG

 

ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด CABG

  • ผู้ที่มีอาการจากการตีบตันของหลอดเลือดโคโรนารีที่ไม่สามารถรักษาทางอื่นได้
  • ผู้ที่มีการตีบตันของหลอดเลือดโคโรนารีเส้นซ้ายใหญ่รุนแรง
  • ผู้ที่มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจรุนแรงหลายเส้น
  • ผู้ป่วยบางคนที่จำเป็นต้องป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • อื่น ๆ ตามการวินิจฉัยของศัลยแพทย์หัวใจ

ตรวจวินิจฉัยก่อนผ่าตัด

ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ CABG ผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัย ดังนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG: Electrocardiogram)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของหลอดเลือดหัวใจ (Computer Tomography Angiogram of Coronary Artery) หรือ การตรวจฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram)

เตรียมตัวก่อนผ่าตัด

  • รับประทานอาหารและยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หยุดกิจกรรมบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • เข้าพักในโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด
  • ตรวจความพร้อมก่อนการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์หัวใจและวิสัญญีแพทย์
  • เช็กผลเลือด เตรียมเลือด
  • ฝากของมีค่า ฟันปลอม แว่นตา หรือของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ไว้กับคนใกล้ชิดหรือพยาบาลก่อนผ่าตัด 

รักษาด้วยการผ่าตัด

  • ขณะอยู่ในห้องผ่าตัดวิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบและใส่สายสวนหลอดเลือดต่าง ๆ
  • ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 3-6 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผ่าตัด
  • หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะถูกเคลื่อนย้ายไปที่ห้องดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ (CCU: Cardiac Care Unit)
  • เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวดีและหายใจได้เอง แพทย์จะเอาท่อช่วยหายใจออก
  • พยาบาลและนักกายภาพบำบัดจะช่วยผู้ป่วยบริหารปอดเพื่อขับเสมหะ
  • ผู้ป่วยควรหายใจเข้าออกลึก ๆ ไอเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยให้ปอดทำงานปกติเร็วขึ้น
  • ผู้ป่วยจะพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไป ก่อนกลับไปพักที่บ้าน

ดูแลหลังผ่าตัด

  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ตรวจติดตามอาการกับศัลยแพทย์เพื่อปรับยาและเช็กหัวใจเป็นระยะ ๆ
  • ออกกำลังเบา ๆ และเพิ่มขึ้นทีละน้อยตามลำดับ เช่น เดิน ฯลฯ
  • ห้ามยกของหนักเกิน 2 กิโลกรัม
  • งดขับรถยนต์ 6 สัปดาห์ เพื่อที่กระดูกหน้าอกที่ผ่าตัดจะได้เชื่อมติดกันดี
  • ทำกิจกรรมทางเพศได้ภายในประมาณ 4 สัปดาห์
  • หลังจาก 6 สัปดาห์กลับไปทำงานตามปกติ
  • หากเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ต้องทานยาเพื่อควบคุมไม่ให้กลับมาเป็นอีก
  • ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ลดไขมัน หวาน เค็ม เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด

ปัจจัยที่มีผลต่อผลการผ่าตัด

ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ CABG ได้แก่

  • สภาพร่างกายของผู้ป่วย ต้องลดอัตราการเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดโคโรนารี เช่น ลดไขมันในเลือด เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
  • อายุการใช้งาน ของหลอดเลือดบายพาส ซึ่งการทำบายพาสด้วยหลอดเลือดแดงน่าจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้นเป็นระยะเวลานาน

หลังจากผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ CABG ไปเป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาหลอดเลือดตีบหรือตันขึ้นอีกได้ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำและเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะหากกลับมาเป็นซ้ำต้องทำการรักษาและผ่าตัดอีกครั้ง

ทางเลือกอื่น ๆ ในการรักษา

  • การใช้ยา (Medical Treatment)ผ
  • ารขยายหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่มีการตีบด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention: PCI)

แม้การผ่าตัดบายพาสเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันจะช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย และผลการรักษาอยู่ได้นานเป็นสิบปี แต่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก หากขาดการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องและมีวินัย เพราะฉะนั้นการรู้จักเลือกรับประทานอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ และดูแลจิตใจให้ไม่เครียดจะช่วยให้หัวใจแข็งแรงไปอีกนาน
 

MS-ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ CABG-Coronary Artery Bypass Grafting

ข้อมูล : นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com

ดูบริการอื่น ๆ