256 สไลส เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง

diagnosis
Advanced Technology
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 256 สไลซ์จะมีความเร็วในการสแกนมากกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์ โดยใช้เวลาในการสแกนประมาณที่หัวใจเต้น 2 ครั้ง แต่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์ ใช้เวลาประมาณหัวใจเต้น 10 ครั้ง
table of contents

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงคืออะไร

การตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือดโคโรนารีอาร์เทอรี่ โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงใช้เทคนิคอะไร

การตรวจโคโรนารี อาร์เทอรี่ใช้เทคนิคอะไรบ้าง

ข้อได้เปรียบของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงคืออะไร

ข้อได้เปรียบของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงชนิด 256 สไลซ์

ข้อแตกต่างระหว่างการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงกับการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)  นิวเคลียร์สเตรสเทส (Nuclear Stress Test) คืออะไร

ข้อบ่งชี้ในการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงคืออะไร

ความเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงมีอะไรบ้าง

เรื่องสำคัญทางสุขภาพที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงต้องทำอย่างไร

ขั้นตอนการตรวจทำอย่างไร

เวลาที่ใช้ในการตรวจนานเท่าไร

หลังการตรวจผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงคืออะไร

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงเป็นเครื่องมือทางรังสีกรรมที่ต้องใช้รังสีเอกซ์ในการสร้างสัญญาณภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัยร่วมกับการฉีดสารเปรียบต่างเข้าทางหลอดเลือดดำ และสัญญาณภาพจะถูกเปลี่ยนไปเป็นภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัยโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ลักษณะภายนอกมีรูปร่างเป็นอุโมงค์ทรงกลมปลายเปิดทั้งสองด้าน และมีเตียงที่ให้สำหรับคนไข้สำหรับนอนตรวจ ซึ่งเลื่อนเข้าออกอุโมงค์ได้ อุโมงค์ของเครื่องมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 60 – 70 เซนติเมตร ภายในผนังอุโมงค์จะมีหลอดเอกซเรย์และตัวรับสัญญาณ ที่อยู่คนละฝั่งตรงข้ามกัน เมื่อทำการตรวจหัวใจ หลอดเอกซเรย์และตัวรับสัญญาณจะหมุนรอบตัวผู้ป่วย 360 องศาด้วยความเร็วสูงพร้อมกับเตียงจะเลื่อนเข้าไปในอุโมงค์ จนได้สัญญาณภาพของหัวใจและหลอดเลือดอย่างครบถ้วน เตียงจะค่อย ๆ เลื่อนออกมานับว่าจบกระบวนการตรวจ

การตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือดโคโรนารีอาร์เทอรี่ โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงใช้เทคนิคอะไร

การตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือดโคโรนารีอาร์เทอรี่ โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงโดยใช้เทคนิค

  1. โคโรนารี แคลเซียม สกอริ่ง (Coronary Calcium Scoring) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ไม่ต้องฉีดสารเปรียบต่างเข้าทางหลอดเลือดดำ ปกติมักจะทำก่อนการตรวจหลอดเลือดหัวใจที่ต้องฉีดสารเปรียบต่าง
  2. การตรวจหลอดเลือดหัวใจที่ต้องฉีดสารเปรียบต่าง (CTA for Coronary Artery) ก็สามารถเห็นแคลเซียมที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดที่อาจมีผลต่อการตีบแคบของหลอดเลือดโคโรนารีบริเวณนั้น แต่ไม่สามารถใช้วิธีนี้คำนวณปริมาณแคลเซียมได้ การฉีดสารเปรียบต่าง ทำให้สามารถเห็นคราบไขมัน (Atherosclerotic Plaque) ที่เกาะอยู่ใต้ชั้นผนังหลอดเลือดได้ด้วย

การตรวจโคโรนารี อาร์เทอรี่ใช้เทคนิคอะไรบ้าง

การตรวจหลอดเลือดหัวใจอาจทำโดยวิธีสวนหัวใจ Catheter – Based Angiography (Coronary Angiogram) ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องใส่สายสวนหัวใจเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ (Femoral Artery) พร้อมกับฉีดสารเปรียบต่างเข้าไปทางสายสวนหัวใจเพื่อดูภาพของหลอดเลือดภายโดยอาศัยรังสีเอกซเรย์ ถึงแม้ว่าการตรวจสวนหัวใจจะเป็นวิธีการตรวจที่มีความเสี่ยงมากกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง แต่ก็ถือเป็นวิธีมาตรฐาน (Gold Standard) ในการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะให้ภาพการตรวจทางรังสีที่ใช้วินิจฉัยโรคมีความละเอียดสูงจึงให้ผลการตรวจที่มีความชัดเจนสูง

ข้อได้เปรียบของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงคืออะไร

  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงมีข้อได้เปรียบกว่าการตรวจสวนหัวใจ เพราะการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงเป็นการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยไม่มีการสอดใส่อุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในร่างกาย
  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงสามารถวัดปริมาณแคลเซียมที่เกาะอยู่ที่ใต้ชั้นผนังหลอดเลือดหัวใจชั้นในสุดได้ ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่วัดได้สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือขดลวด หรือใช้ในการประเมินความเสี่ยงของโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
  • การตรวจหัวใจและหลอดเลือดโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงสามารถวินิจฉัยโรคที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกและเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ในการตรวจครั้งเดียวร่วมกับการฉีดสารเปรียบต่างเข้าทางหลอดเลือดดำ โรคอันตรายเหล่านั้น ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด และโรคหลอดเลือดดำพัลโมนารีอุดกั้น

ข้อได้เปรียบของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงชนิด 256 สไลซ์

ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพให้บริการการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 256 สไลซ์ ซึ่งมีข้อได้เปรียบกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์ ดังนี้

  • เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 256 สไลซ์จะมีความเร็วในการสแกนมากกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์ โดยใช้เวลาในการสแกนประมาณที่หัวใจเต้น 2 ครั้ง แต่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์ ใช้เวลาประมาณหัวใจเต้น 10 ครั้ง
  • เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 256 สไลซ์ ผลิตภาพทางรังสีวินิจฉัยที่มีความละเอียด และคุณภาพดีกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์ ดังนั้นความน่าเชื่อถือของผลการตรวจจึงมีมากกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 64 สไลซ์
  • เพราะเวลาที่ใช้ในการสแกนสั้น จึงทำให้ใช้ปริมาณสารเปรียบต่างน้อยลงประมาณ 30%
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มีจำนวน 256 สไลซ์สามารถใช้ตรวจหัวใจของผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่มากกว่า 60 ครั้งต่อนาทีและอัตราการเต้นไม่สม่ำเสมอได้ และได้ภาพถ่ายทางรังสีที่ดีพอที่จะใช้วินิจฉัยโรคได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการใช้ยาบีต้า บลอกเกอร์ (Beta Blocker) เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ

ข้อแตกต่างระหว่างการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงกับการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)  นิวเคลียร์สเตรสเทส (Nuclear Stress Test) คืออะไร

การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงจะผลิตภาพทางรังสีที่แสดงลักษณะทางโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือด แต่นิวเคลียร์สเตรสเทส (Nuclear Stress Test) และการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test) จะเป็นการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจขณะเกิดความเครียด ซึ่งเป็นการประเมินการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจทางอ้อม 

ข้อบ่งชี้ในการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงคืออะไร

  • ใช้ตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง เช่น ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บหน้าอก แต่ระดับคาร์ดิแอคเอนไซม์ในเลือดไม่เพิ่มขึ้นผิดปกติ แต่อาจมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงในลักษณะเอสที ดีเพรสชัน (ST depression) ที่บ่งบอกถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Ischemia) แต่ไม่ถึงกับเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction)
  • ใช้แยกโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอันเนื่องมาจากหลอดเลือดโคโรนารีอุดตันกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือโรคของกล้ามเนื้อหัวใจเอง (Non – Ischemic Dilated Cardiomyopathy)
  • ใช้ประเมินผลหลังการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงมีอะไรบ้าง

  • ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแพ้สารไอโอดีนที่อยู่ในสารเปรียบต่าง ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีประวัติแพ้อาหารทะเลก็จะมีความเป็นไปได้มากที่จะแพ้สารไอโอดีนที่อยู่ในสารเปรียบต่าง อาจป้องกันได้โดยปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาแก้แพ้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคไตหรือการทำหน้าที่ของไตบกพร่องจะมีความเสี่ยงต่อไตวายอันเนื่องมาจากการกระตุ้นโดยสารเปรียบต่าง (Contrast Induced Nephropathy (CIN))
  • การได้รับรังสีเอกซเรย์ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงต้องได้รับรังสีเอกซเรย์แน่นอน แต่ได้รับในขนาดที่ไม่เกิดอันตราย
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ถ้าไดรับรังสีเอกซเรย์อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการแต่กำเนิดได้

เรื่องสำคัญทางสุขภาพที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

  • ผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์
  • แพ้อาหารทะเลหรือแพ้สารไอโอดีน
  • ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคไต
  • ยาที่รับประทานเป็นประจำ
  • กลัวที่แคบ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงต้องทำอย่างไร

  • ก่อนตรวจผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเสื้อผ้ามาใส่เสื้อตามที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
  • ผู้ป่วยต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะที่อาจทำให้เกิดสัญญาณรบกวนในภาพ
  • ผู้ป่วยต้องงดการรับประทานอาหารและน้ำเป็นเวลา 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจที่ต้องมีการฉีดสารเปรียบต่างร่วมด้วย แต่ไม่ต้องงดยาที่รับประทานประจำ ยกเว้นแพทย์สั่ง
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ โซดา และช็อกโกแลต 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
  • งดรับประทานยาไวอากรา (Viagra) ซิเอลิส (Cialis) หรือ เลวิตรา (Levitra) เป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยเมื่อผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือเป็นที่สงสัย เช่น ประจำเดือนขาด
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบเมื่อผู้ป่วยกลัวที่แคบ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยานอนหลับชนิดอ่อน หรือขนาดน้อย ๆ เพื่อลดความกังวลแล้วแต่กรณีไป

ขั้นตอนการตรวจทำอย่างไร

  • ผู้ป่วยต้องนอนราบบนเตียงตรวจที่สามารถเลื่อนเข้าเลื่อนออกอุโมงค์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ และผู้ป่วยจะถูกรัดด้วยสายรัดเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายของผู้ป่วยเคลื่อนออกจากตำแหน่ง
  • ผู้ป่วยจะได้รับการติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจบนหน้าอกของผู้ป่วยและสายรัดต้นแขนสำหรับวัดความดันโลหิต
  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฝึกซ้อมการกลั้นหายใจก่อนการตรวจตามขั้นตอน เวลาที่ใช้ในการกลั้นหายใจประมาณ 10 วินาที
  • การตรวจวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดโคโรนารี หลอดเลือดเอออร์ตาร์ และหลอดเลือดพัลโมนารี ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงต้องได้รับการฉีดสารเปรียบต่างทางหลอดเลือดดำเสมอ

เวลาที่ใช้ในการตรวจนานเท่าไร

เวลาที่ใช้ในการตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งรวมเวลาการติดอุปกรณ์ที่ตัวผู้ป่วย และการเปิดหลอดเลือดดำ แต่เวลาที่ใช้สแกนจริง ๆ จะประมาณ 5 นาที

หลังการตรวจผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

  • ผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งให้พักรอดูอาการแพ้ที่ห้องพักดูอาการที่แผนก Cardiac Imaging ซี่งอาจเกิดจากสารเปรียบต่างชนิดที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 20 – 30 นาที เมื่อไม่มีอาการผิดปกติใด ๆเกิดขึ้นก็ส่งผู้ป่วยกลับไปที่แผนกที่ส่งผู้ป่วยมาตรวจและให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยไดัรับยานอนหลับหรือยาสลบก่อนการตรวจ ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นรอดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะตื่นดี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี จึงสามารถปล่อยตัวผู้ป่วยให้รับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมตามปกติได้

ผู้ป่วยจะได้รับรายงานผลการตรวจในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังตรวจเสร็จ โดยแพทย์ผู้ส่งตรวจจะเป็นผู้บอกผลการตรวจ

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com

ดูบริการอื่น ๆ