เส้นเลือดขอด (Varicose Veins)

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins)
แชร์

ขาของคนเรามีทั้งเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงหล่อเลี้ยงอยู่ เส้นเลือดแดงมีหน้าที่ส่งออกซิเจนและพลังงานมาให้กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเวลาเดินหรือยืน ขณะเดียวกันเลือดที่ใช้แล้วก็จะถูกส่งกลับไปฟอกที่ปอดโดยผ่านเส้นเลือดดำ ซึ่งโรคของเส้นเลือดดำที่ขาที่พบได้บ่อยคือ เส้นเลือดขอด

สาเหตุเส้นเลือดขอด 

ไม่พบสาเหตุที่แท้จริง แต่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดขอดปานกลางจนถึงรุนแรงมักเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหลอดเลือดดำร่วมด้วย โดยเฉพาะลิ้นบริเวณต้นขา เพียงแต่การทำงานจะไม่ซับซ้อนเหมือนลิ้นหัวใจ ลิ้นตัวนี้มีหน้าที่เปิดปิดไล่เลือดดำให้วิ่งจากขาขึ้นไปฟอกที่ปอด เมื่อลิ้นเสียก็ทำให้เลือดดำคั่งอยู่ที่ขา โดยเฉพาะบริเวณน่อง เข่า และมีโอกาสที่จะเป็นมากขึ้นหากคน ๆ นั้นต้องยืนทำงานหรือเดินนาน ๆ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าผู้ชาย คนที่ตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์มักจะพบมากกว่าคนทั่วไป อีกสาเหตุหนึ่งก็คืออาชีพ แต่น่าจะเป็นปัจจัยเสริม เช่น คนที่มีอาชีพค้าขาย ซึ่งจำเป็นต้องยืนนาน ๆ


อาการเส้นเลือดขอด 

มีอาการตั้งแต่เห็นเป็นเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนัง จนถึงกลายเป็นหนอนปูดออกมา อาจพบได้ตั้งแต่ข้อเท้าไปจนถึงเหนือเข่า ส่วนมากมักจะไม่ค่อยเจ็บ อาจเป็นที่ขาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง แต่เมื่อเป็นมาระยะหนึ่งแล้ว จะรู้สึกตึง ๆ แน่น ๆ จนถึงเจ็บ โดยเฉพาะเวลายืนนาน ๆ บางรายอาจมีอาการเป็นตะคริวบ่อย ๆ ร่วมด้วย ถ้าเป็นมากอาจเกิดเป็นแผลแตกออกมีเลือดไหล หรือมีแผลที่รักษายาก บางรายอาจพบการอักเสบของเส้นเลือดดำร่วมด้วย


วิธีรักษาเส้นเลือดขอด 

หากมีอาการของเส้นเลือดขอดไม่มาก คนส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจ เพราะอาจจะไม่เจ็บและยังดูไม่น่าเกลียด แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งมีอาการเจ็บหรือโต เป็นหนอนจนน่าเกลียด จึงเริ่มที่จะกังวลและอยากรักษา ซึ่งการรักษานั้นทำได้ไม่ง่ายนัก หากเป็นน้อยก็อาจใช้วิธีใส่ถุงน่อง แต่ในรายที่เป็นมากการรักษาด้วยการฉีดยาเฉพาะจุดที่มีอาการอาจช่วยลดขนาดของเส้นเลือดขอดได้บ้างแต่ก็เพียงชั่วคราว เพราะสาเหตุผิดปกติที่ลิ้นเส้นเลือดดำยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนวิธีผ่าตัดที่ต้องเอาเส้นเลือดดำที่มีปัญหานี้ออกไป มีการเปิดแผลที่หัวเข่าและขาหนีบ ลอกดึงเอาท่อทั้งท่อออกมา จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัด ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล และเกิดแผลเป็นที่ขา


Endovenous Laser รักษาผ่านหลอดเลือดด้วยเลเซอร์

ปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ง่ายกว่าการผ่าตัดแต่ได้ผลค่อนข้างดี คือ การรักษาผ่านหลอดเลือดด้วยเลเซอร์ (Endovenous Laser) ซึ่งไม่ใช่การผ่าตัด ใช้เพียงยาเฉพาะที่ อาจไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ การผ่าตัดแบบใหม่นี้เป็นการรักษาโดยการเปิดรูเล็ก ๆ บริเวณหัวเข่า แผลขนาดประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร แล้วสอดท่อเลเซอร์เข้าไปในเส้นเลือดนี้ตั้งแต่ขาหนีบยาวลงไปจนถึง ตำแหน่งหัวเข่า เพื่อจะทำให้เส้นเลือดเหี่ยวแฟบลงไป รวมทั้งที่ลิ้นของหลอดเลือดดำด้วย การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดจากการรักษาเพียงเล็กน้อย ไม่มีแผลเป็น โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกก็ค่อนข้างน้อย และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน


ขานับเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย เพราะต้องใช้งานทุก ๆ วันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงควรที่จะดูแลขาของเราเป็นอย่างดี

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com