ลิ่มเลือดอุดตัน ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 จริงหรือ?

ลิ่มเลือดอุดตัน ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 จริงหรือ?
แชร์

สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 ยังคงแพร่กระจายและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังยิ่งต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหากได้รับเชื้อ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานแย่ลง หัวใจอาจล้มเหลวได้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยลดความรุนแรงและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ แม้จะมีบางรายที่เกิดผลข้างเคียงอย่างลิ่มเลือดอุดตันก็อาจเป็นเพียงส่วนน้อย

วัคซีนโควิด-19 กับประเทศไทย

วัคซีนโควิด-19 ที่จะมีในประเทศไทยนั้นมีหลากหลาย ได้แก่

  • Sinovac จากประเทศจีน เป็นวัคซีนเชื้อตาย ผลิตจากไวรัสที่ไม่มีชีวิตแล้ว
  • AstraZeneca/Oxford วัคซีนที่ใช้ไวรัสชื่อ Adenovirus ไวรัสที่ไม่ได้ก่อโรคในคนเป็นตัวพาเอาส่วนของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าไปในเซลล์เพื่อผลิตภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโควิด-19
  • Sputnik V จากประเทศรัสเซีย เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เหมือนวัคซีน AstraZeneca กล่าวคือใช้ไวรัสชนิดอื่นเป็นตัวพาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
  • mRNA from Pfizer วัคซีนที่ใช้เทคนิคชนิดใหม่อย่าง mRNA โดยฉีดพันธุกรรมโมเลกุลที่เรียกว่า mRNA 
  • ChulaVac วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย โดยใช้เทคนิค mRNA แบบเดียวกันกับบริษัทไฟเซอร์หรือ Moderna
  • สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทของไทยที่ผลิตวัคซีนถอดแบบการผลิตเดียวกับเทคนิคของ AstraZeneca/Oxford 

ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

การป้องกันการระบาดของโควิด-19 ต้องให้ประชากรอย่างน้อย 60% – 70% ขึ้นไปได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฉีดให้กับทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงและมีอันตรายถึงชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคปอดและทางเดินทางหายใจ โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง โดยที่โรคประจำตัวเหล่านั้นต้องสงบและสามารถควบคุมโรคได้แล้ว


ผู้ที่ห้ามฉีดวัคซีนโควิด-19

  • ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งก่อนหรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนรุนแรง
  • ผู้ที่เจ็บป่วยแบบเฉียบพลันและอาการยังไม่คงที่ 
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังและยังปรากฏอาการในปัจจุบัน เช่น โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาทบางชนิด ฯลฯ
  • ผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี 
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ 
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง 
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • เพิ่มเติม รอประกาศ

นอกจากนี้วัคซีนแต่ละชนิดอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกชนิดของวัคซีนที่จะฉีดให้เหมาะสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น 


ลิ่มเลือดอุดตัน ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 จริงหรือ?

ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19

ในปัจจุบันมีการพูดถึงอย่างมากถึงผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งความจริงแล้วผลข้างเคียงมีน้อยมาก ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หากมีอาการรุนแรงก็พบเจอได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นมากมายกว่าหลายเท่า เพราะยิ่งฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วเท่าไร ทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนที่เคยเป็นได้เร็วขึ้นเท่านั้น


ลิ่มเลือดอุดตันกับวัคซีนโควิด-19

ตัวอย่างผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งทุกคนค่อนข้างเป็นกังวลจนทำให้มีการหยุดใช้วัคซีนบางชนิดไปในบางประเทศเพื่อตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากเลือดจับตัวเป็นลิ่ม ทำให้เกิดการอุดตัน 

การเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดดำในสมอง หลอดเลือดดำที่ขา หรือเป็นสาเหตุให้ลิ่มเลือดเหล่านั้นหลุดแล้วไปอุดตันที่เส้นเลือดปอด ภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเกล็ดเลือดในร่างกายของเราเอง ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลงและกระตุ้นให้มีการสร้างระบบการแข็งตัวของเลือดขึ้นในร่างกาย แต่ภาวะนี้ไม่ได้เป็นภาวะที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น ในทางการแพทย์ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคในระบบหลอดเลือดและหัวใจอยู่แล้ว ซึ่งจนถึงปัจจุบันอุบัติการณ์ในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ พบอยู่ที่ประมาณ 50 – 100 เคสต่อการฉีดวัคซีนไปแล้ว 50 – 60 ล้านโดส และกำลังถูกศึกษาและตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ในขณะนี้มีบางประเทศยับยั้งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้ไปแล้วเพื่อศึกษาเพิ่มเติมถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีภาวะที่คล้ายกับโรคของหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีรายงานออกมาในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่ทำให้เกิดความพิการ สามารถหายขาดจากภาวะเหล่านั้นได้ ซึ่งยังคงต้องติดตามผลกันต่อไป 


อย่างไรก็ตามความหวังของการปิดวงจรการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็คือ การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ไม่ถึง 70% ของประชากรทั้งหมด ยิ่งทำให้เกิดขึ้นได้เร็วเท่าไรก็จะมีข้อดีทั้งในเรื่องของการหยุดการระบาด การหยุดความรุนแรงของโรค และที่สำคัญคือ การหยุดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เพราะการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอาจนำมาซึ่งการหลบภูมิคุ้มกัน และวัคซีนจะใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นการเตรียมตัวอย่างดีและเร่งฉีดวัคซีนให้คนที่ควรต้องฉีด หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนกับคนที่มีข้อห้ามในการฉีด ย่อมทำให้ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และความหวังของประชากรทั้งโลกที่จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขก็อยู่ไม่ไกลเกินจะทำได้

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com