นักกีฬาฟุตบอลหัวใจวายเสียชีวิตขณะฝึกซ้อม

นักกีฬาฟุตบอลหัวใจวายเสียชีวิตขณะฝึกซ้อม
แชร์

หลายคนที่เป็นคอบอลหรือแม้แต่ดูบอลไม่เป็น น่าจะเคยได้ยินข่าวเรื่องนักฟุตบอลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเสียชีวิตในระหว่างการแข่งขันเนื่องจากหัวใจล้มเหลวอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่า ทำไมนักฟุตบอลซึ่งเป็นผู้ที่ต้องออกกำลังกายเป็นประจำเสมอถึงเสียชีวิตจากโรคหัวใจกันมาก ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน  


ต้นเหตุนักกีฬาหัวใจล้มเหลว

แม้การเสียชีวิตจากโรคหัวใจในนักกีฬาจะพบได้น้อยมาก โดยในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมาพบเพียง 1 ใน 50,000 – 1 ใน 300,000 ราย แต่เนื่องจากนักกีฬาเหล่านี้อายุยังน้อย มีอนาคตที่จะสร้างชื่อเสียงในวงการกีฬาให้กับทีมต้นสังกัดหรือเป็นตัวแทนระดับชาติได้อีกมากมาย หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับผู้ที่รับทราบ ทั้งที่เป็นแฟนคลับและคนทั่วไป

สาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเสียชีวิต หรือ Sudden Cardiac Death (SCD) มักเกิดจากปัญหาของหัวใจ จากการรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุน้อย (<35 ปี) ในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,400 รายพบว่า 

• 36% มีสาเหตุมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) 
• 17% มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Anomalous Origin of A Coronary Artery) 
• 4% มีสาเหตุมาจากระบบนำคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 

นอกจากนั้นก็เป็นสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้นักกีฬาเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอกก่อนจะเสียชีวิตลง ในปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพหัวใจด้วยเทคโนโลยีที่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองสาเหตุดังกล่าวได้จำนวนเกินครึ่งของสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาที่เสียชีวิตโดยที่ไม่เคยมีอาการเตือนมาก่อน 


กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ

หากกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจะมีผลกระทบต่อการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตนำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง ซึ่งกลุ่มโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำให้เกิดปัญหาในนักกีฬามักเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) ในแง่ของการวินิจฉัยแพทย์ต้องอาศัยข้อมูลหลายด้านมาประกอบกัน เพราะในนักกีฬาที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็มีการหนาตัวขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจโดยที่ไม่เป็นโรคได้เช่นกัน ซึ่งการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ Echocardiogram โดยทีมแพทย์โรคหัวใจที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา (Sport Cardiologist) จะช่วยประเมินสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ แรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และวินิจฉัยพยาธิสภาพต่าง ๆ ของนักกีฬาได้


ป้องกันนักกีฬาเสียชีวิตจากโรคหัวใจ

สิ่งสำคัญในการป้องกันการเสียชีวิตของนักกีฬาจากโรคหัวใจ คือ การตรวจคัดกรองสุขภาพหัวใจของนักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาที่มีโปรแกรมการแข่งขันหรือต้องฝึกซ้อมอย่างหนักต่อเนื่อง โดยการคัดกรองปัญหาของหัวใจนั้นต้องพิจารณาจากประวัติของนักกีฬาระหว่างการเล่นกีฬามาก่อน เช่น หน้ามืด หมดสติ ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ Echocardiogram เพื่อประเมินความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ

AED ช่วยชีวิตนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน

  
AED Sudden cardiac arrest emergency

AED – Sudden cardiac arrest emergency bags to be sent worldwide by FIFA

ปัจจุบันมีอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ Automated External Defibrillator หรือที่มีชื่อย่อว่า เครื่องเออีดี (AED) ซึ่งหลักการจะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้ในโรงพยาบาล เครื่อง AED มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย การใช้งานจะมีแผ่นนำไฟฟ้ามาแปะไว้ที่ทรวงอกของผู้ป่วย จากนั้นเครื่องจะวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตรวจพบแล้ว โดยจะบอกทันทีว่าผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะหรือไม่ มีเสียงพูดออกมาชัดเจน หากจำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าก็สามารถทำได้ง่ายเพียงกดปุ่มที่เครื่อง บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลแต่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วสามารถใช้เครื่องนี้ได้ ปัจจุบันในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง รวมทั้งสนามกีฬานานาชาติชั้นนำมักจะมีเครื่องนี้ติดตั้งกันไว้แล้ว

สิ่งสำคัญในการช่วยชีวิตระหว่างการแข่งขันคือ การเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่อยู่ข้างสนามให้พร้อม เพื่อจะได้รีบเข้าไปช่วยเหลือนักกีฬาได้ทันท่วงที หน่วยงานสากลอย่าง FIFA ให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ข้างสนามให้พร้อมระหว่างการแข่งขันฟุตบอล สำหรับประเทศไทยการแข่งขันกีฬาอาชีพกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเกณฑ์ความพร้อมทางการแพทย์ในสนามแข่งขัน เพราะถึงแม้ปัญหาลักษณะนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจหมายถึงชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้

Sudden cardiac death


ทั้งนี้การตรวจคัดกรองสุขภาพหัวใจของนักกีฬา การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรโดยมีการอบรมการช่วยชีวิตเป็นประจำ และการเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น เครื่อง AED เพื่อกระตุ้นหัวใจของนักกีฬาได้อย่างทันท่วงที ถือเป็นสิ่งสำคัญและคุ้มค่าที่สุดในการป้องกันเหตุการณ์นักกีฬาเสียชีวิต Sudden Cardiac Death (SCD) 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com