บุหรี่ร้าย ทำปอดพัง หัวใจวาย

บุหรี่ร้าย ทำปอดพัง หัวใจวาย
แชร์

บุหรี่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย ยิ่งสูบนาน ยิ่งเพิ่มโรค โดยเฉพาะหัวใจและปอดเป็นอวัยวะที่ถูกบุหรี่ทำร้ายทำลายอย่างมาก ดังนั้นการตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ ไม่เริ่มสูบ หรือหากสูบไปแล้วรีบเลิกทันที อีกทั้งตรวจเช็กสุขภาพหัวใจและปอดเป็นประจำทุกปีคือเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ 

บุหรี่ตัวการปอดพัง

การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับโรคมะเร็ง นอกจากมะเร็งปอด ยังรวมถึงมะเร็งส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะสารพิษในบุหรี่ส่งผลกับร่างกายทั้งระบบ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณบุหรี่ที่สูบ ระยะเวลาในการสูบบุหรี่ ยิ่งสูบนานหรือสูบปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ล้วนแล้วแต่มีผลเช่นเดียวกัน 

สำหรับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 30 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (หรือเท่ากับ 30 ปีซอง หรือ pack-year) ในช่วงอายุ 55 – 75 ปี หรือสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีซอง ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ อย่างกรรมพันธุ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอดได้ เพราะการสูบบุหรี่เทียบได้กับการสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกาย

โดยอาการที่สามารถสังเกตได้เมื่อบุหรี่ที่สูบส่งผลต่อปอดได้แก่หอบหืดถุงลมโป่งพองทั้งระยะเริ่มต้นและรุนแรงมีอาการหอบเหนื่อยเฉียบพลันได้ทั้งยังทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองปอดแตกปอดรั่วได้ดังนั้นหากหยุดสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ได้ย่อมทำให้การทำงานของปอดดีขึ้นและในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่หยุดสูบบุหรี่ได้เกิน 2 สัปดาห์ ความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมะเร็งปอดเกือบจะเทียบเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่ 


บุหรี่ตัวการหัวใจวาย

อนุมูลอิสระ (Free Radical) จากควันบุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปทำลายโครงสร้างป้องกันตัวเองของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะหลอดเลื้องที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ รวมถึงทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง ปวดขาจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง เป็นต้น ยิ่งเวลาที่พ่นควันบุหรี่ออกมา ผู้ที่สูดควันบุหรี่จะได้รับสารเหล่านี้เทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ 

อาการที่สามารถสังเกตได้เมื่อการสูบบุหรี่ส่งผลต่อหัวใจมี 2 แบบ ได้แก่

  1. อาการแบบเฉียบพลัน จากการที่เส้นเลือดตีบหรือตัน อาทิ เจ็บหน้าอกทันที ใจสั่น ฯลฯ
  2. อาการแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการเกิดหินปูนในหลอดเลือด อาทิ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ไม่มีแรง ฯลฯ มาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างออกกำลังกาย เดินขึ้นบันได เดิน เป็นต้น

นอกจากนี้สารพิษในบุหรี่ยังกระตุ้นให้มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หลายเท่าโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อยที่ไม่มีกรรมพันธุ์ปัจจุบันพบได้มากขึ้นเมื่อความดันโลหิตสูงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดตีบตามอวัยวะต่างๆได้นอกจากนี้ในผู้ที่สูบบุหรี่ปริมาณมากและสูบตั้งแต่อายุยังน้อยพบว่ามีอุบัติการณ์ปัญหาหลอดเลือดตีบตันเร็วกว่าคนทั่วไป 


ตรวจเช็กปอดและหัวใจ 

ในผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดและหลอดเลือดหัวใจร่วมกันด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low Dose CT Chest) ร่วมกับการตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) อย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปอดทุก ปีเพราะหากพบความผิดปกติ จะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที 


ข้อดีของการตรวจ

  • เข้าเครื่อง CT ครั้งเดียว ตรวจหาความผิดปกติได้ทั้งปอดและหลอดเลือดหัวใจ
  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร 
  • ใช้เวลาในการตรวจเพียง 10 – 15 นาที 
  • ผลการตรวจสามารถประเมินความเสี่ยงได้ในระยะ 5 ปี

บุหรี่ร้าย ทำปอดพัง หัวใจวาย

เลิกบุหรี่ทำได้แค่ตระหนัก

วิธีการเลิกบุหรี่ที่ได้ผลดีที่สุดในระยะยาวคือ การตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่และผลเสียต่อร่างกาย นำไปสู่การปรับพฤติกรรมเพื่อเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง เพราะสารพิษในบุหรี่มีผลทันทีเมื่อเริ่มสูบและเกิดการอักเสบในร่างกายอย่างต่อเนื่อง แม้จะเลิกบุหรี่ได้แล้วความเสี่ยงทางสุขภาพก็ยังคงอยู่ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาในการสูบ ดังนั้นถ้าจะให้ดีที่สุดคือไม่เริ่มสูบ แต่ถ้าเริ่มไปแล้วก็ควรตระหนักและหยุดสูบทันที 

นอกจากนี้ในบุหรี่ไฟฟ้าผลเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายไม่ต่างกับบุหรี่ทั่วไป ที่สำคัญเข้าถึงง่าย ติดได้ง่ายกว่า ติดได้นานกว่าจากกลิ่นที่หอมนุ่มและความสะดวกสบายในการพกพา จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ว่าจะบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ควรเริ่มและควรหยุดสูบเพื่อหยุดเสี่ยง ยิ่งเลิกได้เร็วยิ่งดีต่อตัวเอง

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com