คุณแม่กับโรคหัวใจรูห์มาติกขณะตั้งครรภ์

คุณแม่กับโรคหัวใจรูห์มาติกขณะตั้งครรภ์
แชร์

ในแต่ละปีโรคลิ้นหัวใจผิดปกติเนื่องจากไข้รูห์มาติกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตประมาณ 1.5% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดของคนไทย ซึ่งโรคนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก เนื่องจากเป็นผลต่อเนื่องจากการติดเชื้อ Streptococcus ตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นอาจไม่สามารถรักษาทารกในครรภ์ไว้ได้

ตัวอย่างคุณแม่ชาวนาอูรูวัย 21 ปี ตั้งครรภ์บุตรคนแรกถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณแม่ท่านนี้เป็นโรคหัวใจรูห์มาติกขณะตั้งครรภ์และคิดว่าไม่สามารถเก็บลูกไว้ได้ แต่เมื่อเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการแบบครบองค์รวม ทั้งสูตินรีแพทย์ แพทย์โรคหัวใจ และกุมารแพทย์ แพทย์ลงความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์และร่วมกันวางแผนการรักษา โดยมีการให้ยากระตุ้นปอดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในกรณีที่จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด ตรวจประเมินการทำงานของหัวใจและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ทุก 2 สัปดาห์ เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และดูแลกับกุมารแพทย์แบบใกล้ชิดจนเจ้าตัวน้อยผ่าคลอดออกมาทางหน้าท้องอย่างราบรื่น จากนั้นคุณแม่เข้ารับการผ่าตัดลิ้นหัวใจและฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ดีมาก ซึ่งเคสนี้คุณแม่และคุณลูกราบรื่นแข็งแรงดี เพราะให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่คงจะดีกว่าถ้าทุกคนใส่ใจเรื่องโรคหัวใจรูห์มาติก โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องการจะตั้งครรภ์และมีเจ้าตัวน้อย      

รู้จักโรคหัวใจรูห์มาติก

โรคหัวใจรูห์มาติกเป็นโรคที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด มักพบในเด็กและทราบว่าเป็นตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งลักษณะที่พบมักมาจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พบในชุมชนแออัดและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักเป็นซ้ำ ๆ จนหัวใจพิการคือตีบและรั่ว เรียกว่า โรคหัวใจรูห์มาติก

อาการที่พบมีลักษณะดังนี้

  • ปวดตามข้อ มีไข้
  • มีปุ่มใต้ผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นแดง
  • กล้ามเนื้อกระตุกไม่มีแรง
  • บวม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก
  • หัวใจอักเสบจนเรื้อรัง อาจหัวใจวายและเสียชีวิตได้

ความเสี่ยงคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อเป็นโรคหัวใจรูห์มาติก

  • เสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก
  • มีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดจึงอาจมีอันตรายต่อแม่และเด็ก
  • หากตั้งครรภ์ต่อไปคุณแม่อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวช่วงใกล้คลอด ขณะคลอด และหลังคลอด
  • เพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์


ดูแลโรคหัวใจรูห์มาติกในคุณแม่ตั้งครรภ์

  • ตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด ช่วยป้องกันภาวะต่าง ๆ ตามมา
  • หากเป็นไข้รูห์มาติกต้องให้แพทย์ดูแลใกล้ชิด
  • ทานยาหรือฉีดยาป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจเป็นประจำ


ทารกแรกเกิดต้องดูแลเป็นพิเศษ

ตั้งแต่วินาทีแรกที่ทารกน้อยออกจากท้องแม่ ภาวะต่าง ๆ ยังไม่พัฒนาเต็มที่ นับเป็นช่วงอันตรายที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิดวิกฤติ โดยเฉพาะใน 4 ชั่วโมงแรกคือช่วงเวลาของการปรับตัวที่หัวใจของเจ้าตัวน้อยต้องสูบฉีดเลือดเพื่อเลี้ยงร่างกายด้วยตนเองต่างจากตอนอยู่ในท้องแม่ที่ได้รับออกซิเจนและอาหาร จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการเพื่อให้แน่ใจว่าทารกน้อยสมบูรณ์แข็งแรงมีพัฒนาการที่ดี

จากเคสคุณแม่ชาวนาอูรูวัย 21 ปีที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติกขณะตั้งครรภ์ที่กล่าวไปข้างต้น แม้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิดวิฤติจึงมีการเตรียมการดูแลร่วมกับสูตินรีแพทย์และแพทย์โรคหัวใจอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์สำหรับทำการรักษาอย่างทันท่วงทีหากเกิดความผิดปกติ ซึ่งทารกน้อยชาวนาอูรูคลอดออกมาอย่างราบรื่น

 
โรคหัวใจรูห์มาติกขณะตั้งครรภ์หากได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการแบบครบองค์รวม ทั้งสูตินรีแพทย์ แพทย์โรคหัวใจ และกุมารแพทย์ พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาตรฐานสากลของโรงพยาบาลกรุงเทพ ย่อมช่วยให้ทั้งแม่และลูกกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com