โรคหลอดเลือดหัวใจ รักษาได้ด้วยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการเกาะของคราบไขมัน พังผืด หินปูน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ โดยอาการของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้ โดยเฉพาะในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างออกกำลังกาย เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
- คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็ง อาจจะตีบ ตัน หรือโป่ง นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ
- สูบบุหรี่ ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจมากถึง 24% ซึ่งสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่นั้น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อน
- เบาหวานเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 2 เท่า
ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การตรวจฉีดสารทึบรังสีสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization) เป็นวิธีการที่พบได้บ่อยเพื่อใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวน (Catheter) ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนที่ได้เข้าไปในหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบ ข้อมือ แขน หรือลำคอ สายสวนจะค่อย ๆ ถูกใส่และเคลื่อนไปตามหลอดเลือดเพื่อไปยังหัวใจ
โดยตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ทำกันแพร่หลายคือ ตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ขา (Femoral Artery) เนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ขาเป็นหลอดเลือดแดงที่ใหญ่สามารถใส่สายสวนเข้าไปได้ง่าย ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเท่าเข็มบริเวณขาหนีบ ทำให้หลังทำหัตถการผู้ป่วยจะต้องนอนราบ ห้ามงอขาข้างที่มีแผลเป็นเวลาค่อนข้างนานอยู่ที่ประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง แพทย์โรคหัวใจจึงได้พยายามหาตำแหน่งของหลอดเลือดแดงตำแหน่งอื่น ซึ่งก็คือ หลอดเลือดแดงที่ข้อมือ (Radial Artery) เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและสามารถพัฒนาการรักษา
เทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ
การทำหัตถการโดยการใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ (Transradial Catheterization) ช่วยในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจได้โดยที่ไม่ต้องแทงเข็มใหม่ การใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือสามารถทำได้ทั้งข้อมือด้านซ้ายและด้านขวา แม้ว่าหลอดเลือดจะมีขนาดเล็กกว่าและมีทางเดินที่คดเคี้ยวกว่า แต่ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์การรักษาให้มีความเหมาะสม สามารถทำการตรวจและรักษาได้ใกล้เคียงกับการตรวจผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบจนกระทั่งปัจจุบันมีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
หลังทำหัตถการผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหารเองได้ โดยปกติการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการตรวจเป็นหลัก โดยแพทย์ต้องมีความชำนาญวิธีนี้ ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากหรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือจะมีข้อดีกับผู้ป่วยมากกว่า แต่ในบางกรณีที่ต้องการรักษาหลอดเลือดแดงที่ข้อมือไว้ใช้ในการรักษาอื่น ๆ เช่น การฟอกไต (Hemodialysis) หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันเพื่อทําทางเดินของเลือดใหม่ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบก็จะมีข้อดีมากกว่า
ปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจตีบผ่านทางสายสวนมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมากทั้งในด้านการรักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ วิธีการรักษาโรคหัวใจผ่านทางข้อมือก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบใช้เวลานอนพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ามาพบแพทย์จะมีลักษณะของหลอดเลือดที่มีระดับความยากง่ายแตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยบางรายมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเพียงเส้นเดียวแต่มีการตีบหลายจุด หรือตีบหลาย ๆ เส้น แบบนี้แพทย์จะต้องหาวิธีการในการรักษาที่ดีเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ข้อดีของเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ
- ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดจากการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ขา
- ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลนาน ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด
- มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) จากการใส่สายสวนน้อยกว่าแบบการสวนผ่านทางขาหนีบ เนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็กกว่าและอยู่ใกล้ผิวหนังมากกว่า ทำให้ห้ามเลือดได้ดีกว่ามาก ซึ่งหากมีเลือดออกบริเวณขาหนีบอาจจะต้องให้เลือด หรือบางครั้งจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองจนอาจต้องผ่าตัดซ่อมแซม และจะทำให้ผู้ป่วยงอขาหรือลุกเดินได้ช้า
วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล
การหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ถือเป็นจุดสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย กระบวนการสำคัญ คือ การให้คะแนนหลอดเลือดหัวใจ (Syntax) ได้แก่
- อันดับที่ 1 ทีมแพทย์ให้การตรวจวินิจฉัยวิเคราะห์ที่ถูกต้องชัดเจน (Precision Medicine) โดยไม่ใช้สายตาคาดคะเน ที่เรียกว่า QCA (Quantitative Coronary Analysis) ดูเปอร์เซ็นต์การตีบของเส้นเลือด ค่าสถิติต่าง ๆ มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและเลือกรูปแบบการรักษา
- อันดับที่ 2 การใช้เครื่องมือช่วยวัดอัตราการไหลเวียนสำรองของเส้นเลือด (FFR: Fractional Flow Reserve) โดยการใส่สายไปที่เส้นเลือดหัวใจเพื่อบอกว่าส่วนที่ตีบส่วนนี้ควรจะต้องทำการรักษาหรือไม่ ทำให้รู้ค่าสัดส่วนความดันเลือดที่ตีบส่วนต้น (จุด a) กับส่วนปลาย (จุด b) เพื่อบอกอัตราการไหลเวียนสำรองของหลอดเลือดหัวใจว่าเพียงพอหรือไม่ ตัวอย่างคือ ถ้าค่า EFR < 0.8 บ่งชี้ให้เราขยายตำแหน่งที่ตีบ เราจะทำให้เลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ เพิ่มอีก 20 % ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้รักษาได้ถูกตำแหน่ง และในอนาคตอันใกล้โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจะนำวิธีการตรวจวินิจฉัยอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 มาผสมผสานกัน เรียกว่า (QFR: Quantitative Flow Ratio)
- อันดับที่ 3 แพทย์จะต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดตีบมากน้อยแค่ไหน ถ้าผู้ป่วยมีอาการตีบ 1 – 2 เส้น คะแนน Syntax ต่ำ ๆ การทำบอลลูนก็จะเข้ามามีบทบาท แต่หากผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดตีบมากกว่า 2 – 3 เส้นขึ้นไป หรือคะแนน Syntax สูง ๆ หรือจำเป็นต้องทำบอลลูนใส่สเต็นท์ (Stent) หลาย ๆ ตัวซึ่งอาจไม่เหมาะสม แพทย์อาจพิจารณาส่งผู้ป่วยให้ Heart Team เข้ามาดูแล ซึ่งเป็นทีมแพทย์แบบสหสาขา (Multidisciplinary) เพื่อหาวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมให้กับผู้ป่วย อาทิ การผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจ ฯลฯ
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีความมุ่งมั่นที่จะวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความซับซ้อนสูง เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดหัวใจอุดตันเรื้อรัง เส้นเลือดหัวใจตีบบริเวณขั้วหัวใจ เส้นเลือดหัวใจตีบแบบมีหินปูนเกาะผนังหลอดเลือดจำนวนมาก เส้นเลือดตีบตรงทางแยก แบบนี้เป็นการรักษาที่ซับซ้อน ดังนั้นผลลัพธ์ในการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Stent Optimization โดยการวัดขนาดหลอดเลือดภาคตัดขวางด้วยสายสวน เพื่อให้การใส่ขดลวด (Stent) ถ่างขยายหลอดเลือดเต็มที่ การตรวจคลื่นสะท้อนในหลอดเลือด หรือการใส่สายสวนตรวจด้วยแสงที่มีความถี่สูงเพื่อให้ได้ความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น และการส่องกล้องแบบคลื่นเสียงสะท้อนโดยใช้กระบวนการและแนวทางการรักษาตามมาตรฐานของอเมริกา American College of Cardiology (ACC) และ Society of Cardiac Angiography and Coronary Intervention (SCAI)