ดูแลหัวใจช่วงคลายล็อกดาวน์ COVID-19

ดูแลหัวใจช่วงคลายล็อกดาวน์ COVID-19
แชร์

ไวรัส COVID-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องทั่วโลกและทำอันตรายกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะมีอาการไม่มาก มีอาการทางเดินหายใจ จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับออกซิเจนร้อยละ 14 และหนักระยะวิกฤติต้องนอนไอซียูร้อยละ 6 และมีอัตราตายทั่วโลกร้อยละ 7 ทั้งนี้มากน้อยแล้วแต่ขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยของแต่ละประเทศ


กลุ่มเสี่ยงที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 3.6 โดยเฉพาะถ้าอายุมากกว่า 80 ปี (อัตราเสียชีวิตร้อยละ 15) มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจ (อัตราเสียชีวิตร้อยละ 13) โรคเบาหวาน (อัตราเสียชีวิตร้อยละ 9) ความดันโลหิตสูง (อัตราเสียชีวิตร้อยละ 8) ตลอดจนโรคมะเร็ง (อัตราเสียชีวิตร้อยละ 7.6)

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโรคประจำตัว หากได้รับเชื้อ COVID-19 เข้าไปและปรากฏอาการโรคปอดบวม มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ภาวะออกซิเจนต่ำ ถ้าไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจวาย ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวต้องใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) และอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เสียชีวิตได้ในที่สุด


ดูแลตัวเองให้ไกล COVID-19 

เพราะเชื้อไวรัส COVID-19 แพร่กระจายได้ง่ายทางละอองฝอยของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้ทุกระยะ แม้ไม่มีอาการแสดง ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรระมัดระวังการติดต่อด้วยการ

  • งดเดินทางไปแหล่งระบาด
  • คุมเข้มมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยในบ้านควรอยู่ห่างผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว
  • กินร้อน ช้อนแยก
  • ดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งหากออกไปนอกบ้าน
  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หากจับผิวสัมผัสในที่สาธารณะ
  • ปิดฝาชักโครกทุกครั้งหลังขับถ่าย
  • หากมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเดิมหรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบ อาทิ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและควบคุมระดับไขมัน น้ำตาล ค่าการอักเสบของหลอดเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ถ้าติดบุหรี่ควรเลิกบุหรี่โดยเร็ว
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดบวม Pneumococcal Vaccine หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ

 

ดูแลหัวใจช่วงคลายล็อกดาวน์ COVID-19

TELEHEALTH ยุค COVID-19

TELEHEALTH ถือเป็นระบบบริการแบบใหม่ (New Normal) ในการรับการรักษาเพื่อลดการมาตรวจที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากผู้อื่นและลดการแพร่กระจายเชื้อกรณีตนเองเจ็บป่วย ระบบ Telehealth ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญคือเพิ่มการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยผู้ป่วยสามารถรับบริการปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์มือถือ บางสถานพยาบาลอำนวยความสะดวก บริการรับเจาะเลือดและจัดส่งยาให้คนไข้ถึงบ้าน ตลอดจนให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์


บริการตรวจโรคผ่าน Telehealth

โรคที่สามารถตรวจผ่าน Telehealth ได้แก่

  1. ความดันโลหิตสูง แพทย์สามารถซักประวัติ สอบถามอาการ ประเมินสัญญาณชีพ อาทิ ตรวจความดันโลหิตและชีพจรโดยเครื่องวัดอัตโนมัติในท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน ตลอดจนตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจรหลังจากออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถปรับยาควบคุมความดันโลหิตได้อย่างเหมาะสม
  2. โรคไขมันในเลือดสูง Telehealth บริการใหม่เฉพาะบุคคลผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ ทำให้ผู้ป่วยทราบผลการตรวจสุขภาพประจำปี โดยสามารถเปรียบเทียบผลไขมันในเลือดของแต่ละปีได้ นอกจากนี้การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบส่งทีมเจาะเลือดที่บ้าน และการส่งยาให้คนไข้ทางไปรษณีย์ หรือ Messenger ของโรงพยาบาล ตลอดจนการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากไขมันสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. โรคหัวใจอ่อนกำลังหรือขาดเลือดภายหลังออกจากโรงพยาบาล โดยผ่านการปรึกษาทาง Telehealth นอกจากแพทย์ซักประวัติทางมือถือ ยังสามารถประเมินภาวะน้ำในร่างกายผู้ป่วยและภาวะหัวใจวายน้ำท่วมปอด โดยประเมินน้ำหนักตัวที่ผู้ป่วยชั่งที่บ้าน ฟังเสียงหัวใจและปอดผ่านเครื่องมือดิจิทัลทางไกล (Digital Stethoscope) โดยผู้ป่วยวางทาบอุปกรณ์บนทรวงอก ซึ่งอุปกรณ์นี้สามารถจับสัญญาณและบันทึกเสียงของหัวใจและปอดได้ชัดเจนแล้วส่งผลออนไลน์ให้แพทย์ ประกอบกับการตรวจดูว่ามีขาบวมหรือไม่ทางกล้องวิดีโอ ทำให้แพทย์สามารถปรับยาขับปัสสาวะได้อย่างเหมาะสม ช่วยป้องกันภาวะน้ำในร่างกายมากเกินจนน้ำท่วมปอดได้ ลดความเสี่ยงที่จะกลับเข้าไปนอนโรงพยาบาลซ้ำได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ตรวจจับออกซิเจนปลายนิ้วปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลได้ แพทย์ฟื้นฟูหัวใจสามารถทราบอัตราการเต้นของหัวใจและออกซิเจนของผู้ป่วยขณะเดินออกกำลังกายเบา ๆ ได้ หากพบความผิดปกติ ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้ ขณะเดียวกันหากพบภาวะขาดออกซิเจนขณะนอนหลับ แพทย์สามารถนัดมาตรวจค้นหาสาเหตุความผิดปกติการนอนโดยเฉพาะในรายที่น้ำหนักตัวมากเกินไป
  4. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เทคโนโลยีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติขนาดเล็กล่าสุด ผู้ป่วยสามารถมองเห็นคลื่นไฟฟ้าหัวใจตนเองผ่านทางมือถือและสามารถส่งสัญญาณของคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยให้กับแพทย์ได้แบบทันที (Real Time) ทำให้แพทย์สามารถประเมินจังหวะการเต้นหัวใจได้อย่างทันท่วงทีและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง แม้แต่ขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับหรือออกกำลังกายก็สามารถตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ แพทย์สามารถนัดผู้ป่วยเข้ามาตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่สมองตามมา นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ชนิดต้องเจาะเลือดเพื่อปรับยา การเจาะเลือดที่บ้านจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ลดโอกาสการมาตรวจที่โรงพยาบาลได้ดูแลหัวใจช่วงคลายล็อกดาวน์ COVID-19
  5. โรคเบาหวาน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเจ็บตัวเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแบบเดิม ปัจจุบันสามารถตรวจง่าย ๆ ด้วยแผ่นแปะตรงผิวหนังที่แขนและส่งผลระดับน้ำตาลในเลือดให้แพทย์ทาง Telehealth แพทย์สามารถปรับยาโรคเบาหวาน ซักประวัติอาหารที่ทาน และให้คำแนะนำควบคุมอาหาร ตลอดจนสามารถให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายที่ถูกต้อง หากผู้ป่วยมีนาฬิกาที่ตรวจจับชีพจรได้ แพทย์สามารถแนะนำเลือกโซนอัตราการเต้นของหัวใจที่ช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด
  6. โรคลิ้นหัวใจผิดปกติและหลอดเลือดหัวใจตีบ การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นวงกว้าง เคสผู้ป่วยหัวใจที่ไม่เร่งด่วนจะถูกเลื่อนการผ่าตัดและหัตถการการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจออกไปก่อน เพื่อป้องกันผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในช่วงก่อนมาผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดกลับบ้านไปแล้ว ระบบการปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ แพทย์สามารถติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ หากมีอาการผิดปกติ อาทิ เหนื่อย แน่นหน้าอก สามารถพิจารณาผ่าตัดหรือทำหัตถการโดยเร่งด่วนได้ อนาคตอันใกล้หากเทคโนโลยีอัลตราซาวนด์หัวใจสมบูรณ์ขึ้น ผู้ป่วยสามารถตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจผ่านเครื่องมือชนิดพกพา (Handheld Echocardiography) โดยทีมเยี่ยมบ้าน ทำให้ผู้ป่วยสะดวกยิ่งขึ้น
  7. บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวสะดวกขึ้น หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถลดการไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงทุกคนควรได้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อช่วยลดโอกาสการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ ที่สำคัญคือจะได้ไม่ถูกเฝ้าระวังติดตาม เพราะไข้หวัดใหญ่มีอาการแสดงคล้ายกับการติดเชื้อ COVID-19
  8. เมื่อมีอาการไข้ ไอ เหนื่อย หายใจลำบาก ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโรคประจำตัว บางครั้งอาการแยกไม่ออกว่าเป็นจากการติดเชื้อ COVID-19 หรือโรคหัวใจเดิมกำเริบ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาเบื้องต้นผ่าน Telehealth กรณีเข้าข่ายผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ COVID-19 แพทย์สามารถนัดหมายมาตรวจคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอด หัวใจ และไตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในกรณีฉุกเฉินผู้ป่วยสามารถเรียกบริการรถพยาบาลที่เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินครบครันไปรับผู้ป่วยที่บ้านได้


เทคโนโลยีของ Telehealth ถือเป็นบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ที่มีช่องทางเข้าพบหมอได้ง่าย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ที่สำคัญนอกจากทำให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 แล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นสบายใจที่ได้ใกล้หมอกว่าการไปตรวจที่โรงพยาบาลปกติ ช่วยลดภาวะความเครียดความกังวลใจของผู้ป่วยในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านได้ด้วย


แม้การระบาดระลอกแรกกำลังจะผ่านไป แต่ตราบใดที่ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ทรงอานุภาพหรือวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ หากทุกคนออกมาใช้ชีวิตปกติหรือการ์ดเริ่มตกก็อาจเสี่ยงต่อการระบาดระลอกที่สองหรือสามตามมา ซึ่งถึงตอนนั้นหากเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์จะมีผู้คนที่ล้มเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก เทคโนโลยี Telehealth ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยให้การดูแลรักษาโรคสามารถทำได้ที่บ้านลดการมาตรวจที่โรงพยาบาล

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com