โรคหัวใจ ร้ายแรงแต่ป้องกันได้
นับจากวินาทีแรกที่ได้ยินเสียงหัวใจเต้น นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความมีชีวิตของคนเรา หัวใจจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ควรใส่ใจดูแล ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เราได้ยินเสียงหัวใจเต้นอยู่ได้นานที่สุด แต่เพื่อให้เสียงหัวใจเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีของชีวิต
รู้ทันโรคหัวใจ
โรคหัวใจ (Heart Attack) ติดอันดับ 1 ใน 3 โรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดมาตลอด ปัจจุบันก็มีแนวโน้มสถิติเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี เป็นเพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เต็มไปด้วยความเร่งรีบและตึงเครียด เรื่องอาหารการกินที่เปลี่ยนมานิยมอาหารฟาสต์ฟู้ดส์แบบตะวันตกมากขึ้น กินผัก กินปลาน้อยลง รวมทั้งคนที่สูบบุหรี่ อ้วน หรือไม่ออกกำลังกาย เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหัวใจของคนไทย โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และควรตรวจเช็กสุขภาพร่างกายโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่มีอายุย่างเข้า 40 – 50 ปี หากพบว่ามีภาวะไขมัน น้ำตาล หรือความดันโลหิตสูง ก็ต้องดูแลสุขภาพหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เพราะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้น บางคนไม่ได้มีอาการเตือนของโรคแสดงออกมา แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงกับภาวะหัวใจล้มเหลว หรือที่เรียกว่า Silent Heart Attack ได้เช่นกัน
สัญญาณเตือนโรคหัวใจ
สำหรับคนที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจ สามารถสังเกตได้จากอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง เป็นอาการเจ็บแปล๊บที่หน้าอก และอาจมีอาการร้าวไปที่คอ แขนทางด้านซ้าย หรือมีอาการปวดที่กราม หรือเจ็บหลังบ้าง อาการเหล่านี้เตือนให้รู้ว่าควรไปพบแพทย์หัวใจได้แล้ว
ส่วนในคนที่มีอาการหนัก เช่น แน่นหน้าอกมากเหมือนมีก้อนหินมาทับอยู่ หรือเจ็บหน้าอกตื้ออยู่นาน ๆ นี่เป็นอาการที่ชัดเจนว่าเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ และกำลังจะมีอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
Heart Tips ชีวิตยืนยาว ห่างไกลโรคหัวใจ
การปฏิบัติตนให้มีชีวิตยืนยาวและห่างไกลจากโรคหัวใจนั้นมีอยู่ 7 ข้อด้วยกัน คือ
- งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงน้ำชา กาแฟ ของเสพติดมึนเมา
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมจิตใจและอารมณ์ อย่าให้มีความเครียด
- ควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารทอดหรือเจียวน้ำมัน
- พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาวิธีป้องกันรักษาโรคหัวใจและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เพราะคนไทยมีโอกาสเสี่ยงและเป็นโรคหัวใจมากขึ้น การตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาจึงต้องการแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะทางมากขึ้น โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้บริการผู้ป่วย ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย โดยใช้เทคโนโลยี 3-Tesla MRI หรือเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 256-Slice CT Scan Computer หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่สุด เป็นต้น และมีห้องผ่าตัดปลอดเชื้อที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดจากเยอรมนี รวมทั้งวิธีการผ่าตัดแบบไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) ซึ่งเป็นการผ่าตัดขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด และผู้ป่วยก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีบริการติดตามและดูแลผู้ป่วย การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจอย่างครบวงจร
ใส่ใจ…ดูแลหัวใจตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้จังหวะหัวใจที่บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปได้นาน ๆ ปราศจากอาการโรคหัวใจ”