ปอดรั่ว อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต

ปอดรั่ว อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
แชร์

ปอดรั่วเป็นโรคหนึ่งที่เป็นภัยเงียบมีอันตรายถึงชีวิต สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่สูบบุหรี่หนัก วัยทำงานที่ได้รับมลภาวะทางอากาศ หรือวัยรุ่นโตเร็ว ผู้ป่วยมักไม่ปรากฏอาการ แต่จะรู้ตัวอีกทีเมื่อพบว่าเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือไอแห้งเฉียบพลัน หากรักษาไม่ทันเวลามีโอกาสเสียชีวิตได้


รู้จักปอดรั่ว

โรคปอดรั่ว คือ ภาวะที่ถุงลมในปอดแตก ทำให้อากาศรั่วเข้าไปแทรกอยู่ในช่องอกจนเบียดเนื้อปอดและหัวใจ ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการหายใจ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพราะภาวะดังกล่าวอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้หากลมที่รั่วนั้นกดเบียดหัวใจรุนแรง


สัญญาณเตือนปอดรั่ว

สัญญาณเตือนของโรคปอดรั่วนั้นแตกต่างกันตามอายุ ได้แก่ 

  • คนอายุน้อย มักมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลันและไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ โดยที่ไม่มีอาการไข้หวัด น้ำมูกไหล เจ็บคอมาก่อน อยู่ดี ๆ ก็ไอขึ้นมา หาสาเหตุไม่ได้
  • คนสูงวัย หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือสูบบุหรี่จัดมักมาด้วยอาการเหนื่อยหอบ ยิ่งในคนที่สูบบุหรี่หนักที่มีโรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง เมื่อเนื้อปอดที่ไม่ดีอยู่เดิมถูกกดเบียดจะเหนื่อยง่ายและเหมือนหายใจไม่สุด ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกจะต่างจากคนที่เป็นโรคหัวใจ ถ้าผู้ป่วยโรคหัวใจจะเจ็บแบบแน่น ๆ เหมือนมีอะไรมาทับมากด แต่ถ้าปอดรั่วจะเจ็บแปล๊บในหน้าอกข้างใดข้างหนึ่งตามการหายใจ


***โรคปอดรั่วเป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้คนตายได้ถ้าลมรั่วเยอะจนทำให้หัวใจเลื่อนไปอีกด้านหนึ่ง ทำให้เลือดจากเส้นเลือดดำใหญ่ไหลเข้าหัวใจไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกลุ่มเสี่ยงจากการสูบบุหรี่มาก มีแผลถูกแทงที่อก หรือกลุ่มที่ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วเกิดแรงดันบวก มีโอกาสเสียชีวิตได้เช่นกัน


ปอดรั่ว อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต

รู้ทันภาวะปอดรั่ว

ภาวะปอดรั่ว แบ่งออกเป็น 2 แบบ 

  1. ภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ (Primary Spontaneous Pneumothorax, PSP) เป็นโรคปอดรั่วในคนที่ไม่ได้มีตัวโรคที่เนื้อปอดโดยเฉพาะ มักเกิดในผู้ป่วยที่อายุ 18 ปี ขึ้นไปจนถึง 30 ปี ในช่วงวัยรุ่นที่ผอมสูงโตเร็วมักพบว่ายอดปอดส่วนบนเป็นถุงลมโป่งพองเฉพาะจุด ซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่จากการวิเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้คือ อาจเป็นจากพันธุกรรม หรือช่วงที่วัยรุ่นโตเร็ว ปอดกับช่องอกขยายตัวไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ยอดปอดเกิดถุงลมโป่งพอง อีกกลุ่มคือคนที่เกิดภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีชื่อเรียกเฉพาะว่าโรคลมรั่วตามรอบเดือน (Catamenial Pneumothorax) เป็นภาวะที่มีเซลล์เยื่อบุมดลูกฝังในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วในขณะที่มีประจำเดือน พบได้ไม่บ่อยแต่ต้องไปรับการผ่าตัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน
  2. ภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิ (Secondary Spontaneous Pneumothorax, SSP) มักเกิดกับคนที่อายุมากกว่า 60 ปีที่สูบบุหรี่จัด และเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคปอดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งมักพบว่าถุงลมโป่งพองจะเป็นกระจายไปทั่ว เมื่อแตกออกมาลมรั่วเข้าช่องอก อาการจะรุนแรงกว่าปอดรั่วแบบปฐมภูมิ เนื่องจากการทำงานของปอดเสียไปจากบุหรี่แล้ว


***ในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิจะมีจำนวนมากกว่าภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงกลุ่มทุติยภูมิคือ การสูบบุหรี่จัดจนเป็นสาเหตุให้เกิดถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบทำให้ถุงลมโป่งพองได้ด้วย


ปัจจุบันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีเคสผู้ป่วยวัยกลางคนวิ่งมาราธอนตลอดระยะเวลา 5 ปี เกิดภาวะปอดรั่วเมื่อส่องเข้าไปดูพบว่า ที่ปอดสีดำเหมือนคนสูบบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และปกติระยะเวลากว่าจะแสดงอาการต้องใช้เวลาในการสะสมนาน 10 ปีขึ้นไป แต่เคสนี้พิเศษคือ แสดงอาการออกมาเร็วหรือบางเคสผู้ป่วยอายุน้อยไปดูคอนเสิร์ต อยู่ดี ๆ ไอและเจ็บหน้าอกขึ้นมา มาเช็กพบว่าปอดรั่ว ซึ่งมีอาการเรื้อรังมานานและวันนั้นอยู่ในที่ที่มีดนตรีเสียงดัง ทำให้ถุงลมที่โป่งพองแตกขึ้นมา ซึ่งอาการของโรคปอดรั่วจะไม่ชัดเจนเหมือนโรคทั่วไป

 

ตรวจรักษาปอดรั่ว

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในห้องฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมีอาการแบบเฉียบพลัน หากแพทย์เอกซเรย์จะพบลมรั่วออกมาที่ช่องอก แต่ยังไม่เห็นรูรั่วที่ปอด แนวทางการรักษาในอดีตครั้งแรกยังไม่ต้องผ่าตัด แค่ใส่สายระบาย 3 – 7 วัน รูรั่วสามารถหายไปได้เองเหมือนแผลถลอก เมื่อไรที่เป็นซ้ำจึงจะทำการผ่าตัด แต่ปัญหาคือโอกาสเป็นซ้ำสูงถึง 30% ปัจจุบันเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับการผ่าตัดปอดรั่วที่ได้มีการพัฒนาด้านการผ่าตัดเป็นแผลผ่าตัดแผลเล็กแผลเดียวขนาดใกล้เคียงกับการใส่สายระบาย จึงมีผู้ป่วยต้องการผ่าตัดตั้งแต่ปอดรั่วครั้งแรกมากขึ้น

สำหรับการตรวจวินิจฉัยเริ่มจากเอกซเรย์ขั้นต้นเพื่อดูว่ามีลมรั่วหรือไม่มีลมรั่วและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูว่าถุงลมโป่งพองอยู่ตรงไหนเพื่อวางแผนการผ่าตัด ในอดีตการผ่าตัดต้องลงแผนใหญ่ใส่ที่ขยายซี่โครงเข้าช่องอกด้านข้าง แต่ปัจจุบันลงแผลเล็กแผลเดียวขนาด 2 – 3 เซนติเมตร เข้าผ่านช่องซี่โครง โดยใช้กล้องร่วมกับอุปกรณ์ผ่าตัดยาวพิเศษ (Video – Assisted Thoracic Surgery: VATS)  และสามารถใช้อุปกรณ์ที่ตัดพร้อมกับเย็บได้ในเวลาเดียวกันในหลายจุดได้ในครั้งเดียว

หลังจากผ่าตัดถุงลมที่รั่วออกไปเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะทำหัตถการเพื่อทำให้ปอดกับช่องอกติดกัน หลักการคือทำให้ช่องอกเกิดการอักเสบขึ้นเพื่อให้เกิดพังผืดทั่วช่องอกขึ้นมา โดยมีการใช้ 

  1. สารทัลก์ที่เป็นเมดิคัลเกรด
  2. การทำให้ผนังช่องอกเป็นแผล
  3. การลอกเยื่อบุผนังช่องอก

หากเกิดปอดรั่วขึ้นอีกอนาคตปอดจะไม่ยุบจนกดเบียดหัวใจ ทิ้งไว้ระยะหนึ่งร่างกายก็สามารถจัดการลมออกไปได้เอง ซึ่งจากการวิจัยพบว่า วิธีการลอกเยื่อบุผนังช่องอกโอกาสกลับเป็นซ้ำ 1%  ถ้าทำให้เป็นแผลโอกาสเป็นซ้ำ 5% และใช้สารทัลก์โอกาสเป็นซ้ำ 10 – 20%  โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพเลือกทำวิธีการลอกเยื่อเซลล์เพื่อลดความเสี่ยงที่คนไข้กลับมาเป็นซ้ำให้น้อยที่สุด ส่วนระยะเวลาในการผ่าตัดโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยจะมีสายระบายประมาณ 2 วัน หลังเอาออกสามารถกลับบ้านได้

 

ดูแลหลังผ่าตัดปอดรั่ว

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ได้แก่ 

  • ห้ามผู้ป่วยยกของหนัก เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้แผลผ่าตัดภายในปริได้ ส่วนแผลผ่าตัดภายนอกจะหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมรั่วตามรอบเดือน แนวทางการรักษาคือการให้ฮอร์โมนหยุดประจำเดือน ทำให้เป็นเหมือนวัยทองประมาณ 6 – 9 เดือน


การดูแลปอดให้แข็งแรงสามารถทำได้คือ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแหล่งมลภาวะต่าง ๆ ไม่ควรวิ่งมาราธอนหรือออกกำลังกายภายนอกอาคารในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และควรใส่หน้ากากป้องกันในผู้ป่วยหากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com