หัวใจสูงวัยสตรองได้แค่ดูแล

หัวใจสูงวัยสตรองได้แค่ดูแล
แชร์

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะหัวใจที่นอกจากความเสื่อมตามวัย พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ และการมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน ติดบุหรี่ เป็นต้น ล้วนมีส่วนสำคัญในการเกิดโรคหัวใจตามมา ซึ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไปควรใส่ใจดูแลตนเอง อย่ามัวแต่ห่วงงานจนลืมไปว่าหัวใจมีเพียงแค่ดวงเดียว เพราะโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้สูงวัย
 

ปัจจัยเสี่ยงหัวใจวาย 

  1. ไขมันสูง
  2. สูบบุหรี่
  3. เบาหวาน
  4. ความดันโลหิตสูง
  5. อ้วนลงพุง
  6. เครียด ซึมเศร้า
  7. พันธุกรรม

 
อาการเตือนโรคหัวใจผู้สูงวัย 

  • เหนื่อยง่าย
  • แน่นหน้าอก
  • ใจสั่น
  • หน้ามืด
  • เป็นลม

อาการที่อาจพบในผู้สูงวัยได้แบบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากโรคหัวใจ เช่น อ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น
 

โรคหัวใจ, ดูแลหัวใจ, ผู้สูงวัย
ตรวจเช็กความเสื่อมหัวใจ

การตรวจเช็กสุขภาพหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันโรคหัวใจได้อย่างทันท่วงที โดยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหัวใจก่อนเข้ารับการตรวจ ได้แก่

  1. การตรวจหาปริมาณแคลเซียมและคราบไขมันที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery) โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงด้วยเทคนิค
    • Coronary Calcium Scoring วิธีนี้สามารถคำนวณปริมาณแคลเซียมที่เกาะตรงผนังหลอดเลือดหัวใจได้ โดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ ถ้าพบว่ามีแคลเซียมสะสมอยู่มาก ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันสูงและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจสูง
    • CTA for Coronary Artery ตรวจหลอดเลือดหัวใจที่ต้องฉีดสารทึบรังสี ทำให้เห็นร่องรอยการตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจทั้งหมดสามเส้นในครั้งเดียว การฉีดสารทึบรังสีทำให้เห็นคราบไขมัน (Atherosclerotic Plaque) ที่เกาะอยู่ใต้ชั้นผนังหลอดเลือดได้ การตรวจพบการตีบตันตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่งผลทำให้การป้องกันได้ผลดีในระยะยาว
  2. การวิ่งสายพาน(Exercise Stress Test) เป็นการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการคัดกรองการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจเบื้องต้น ถ้าพบว่าผิดปกติจำเป็นจะต้องตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยละเอียดเพิ่มเติม
  3. การตรวจ MRI หัวใจ มีทั้งการตรวจ MRI ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี การตรวจ MRI หัวใจ โดยไม่มีการฉีดสารทึบรังสี การตรวจ MRI หัวใจร่วมกับการฉีดยาและการฉีดสารทึบรังสี เพื่อตรวจหาความปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งหาความผิดปกติของหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด


เลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายหัวใจ 

  1. เครียด
  2. กินหวาน มัน เค็มมากเกินไป
  3. เลี่ยงฟาสต์ฟู้ดส์ จังก์ฟู้ดส์ เช่น โดนัท คุ้กกี้ เบเกอรี่ เป็นต้น
  4. นอนไม่พอ
  5. ไม่ออกกำลังกาย
  6. ไม่กินผักผลไม้
  7. สูบบุหรี่

 
โรคหัวใจ, ดูแลหัวใจ, ผู้สูงวัย
เทคนิคการกินสำหรับคนเสี่ยงโรคหัวใจ

สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงโรคหัวใจควรต้องดูแลอาหารการกินในทุกมื้อ โดยอาหารแต่ละมื้อควรมี

  • ข้าวซ้อมมือ 1 ทัพพี
  • โปรตีนจากปลา 2 – 4 ช้อนโต๊ะ
  • ถั่วเปลือกแข็งแทนของว่างระหว่างมื้อ ปริมาณ 1 อุ้งมือต่อวัน
  • ผักไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องไม่มีสารเคมีตกค้าง
  • ผลไม้ควรทาน 6 – 8 ชิ้นต่อมื้อ เพราะผลไม้มีน้ำตาลค่อนข้างมาก ถ้าจะให้ดีควรทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย ได้แก่ แก้วมังกร สาลี ฝรั่ง ชมพู่ และแอปเปิล
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 6 – 8 แก้วต่อวัน

 
เพราะโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเนื่องในวันพ่อปีนี้ นอกจากหมั่นดูแลสุขภาพหัวใจของคุณพ่อโดยเฉพาะคุณพ่อสูงวัย ก็ไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวที่อาจมีความเสี่ยง โดยเริ่มจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคาร H โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
heart@bangkokhospital.com