หลอดเลือดแดงใหญ่โป่ง พอง แตก ผ่าตัดแผลเล็ก ลดความเสี่ยงฟื้นเร็ว
จากสถิติในสหรัฐอเมริกาทุก ๆ ปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ประมาณ 15,000 คน และพบว่า 90 – 95% ของผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาลเนื่องจากเสียเลือดมาก ซึ่งโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง มีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องและในช่องอก ซึ่งทั้งสองลักษณะจะต้องรีบทำการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคนที่มีประวัติสูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง จากหลอดเลือดขนาดปกติจะมีแรงดันกระทำกับผนังของหลอดเลือดมากขึ้น เมื่อขนาดของหลอดเลือดใหญ่ขึ้นเหมือนลูกโป่งที่เป่าไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจะแตก และเมื่อแตกแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต
กรณีหลอดเลือดแดงใหญ่แตกในช่องอกอัตราตายสูงถึง 95% หากแตกในช่องท้องลดลงมาเหลือ 90% หมายความว่า 100 คนที่หลอดเลือดแดงใหญ่แตกจะตายทันทีในที่เกิดเหตุ 90 คน เหลือรอดมาโรงพยาบาล 10 คน และใน 10 คนที่รอดมาถึงโรงพยาบาล 5 คนเท่านั้นที่มีโอกาสรอดชีวิตกลับบ้าน
ทั้งนี้เนื่องจากการผ่าตัดมีความซับซ้อน ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อหลอดเลือดแดงใหญ่แตก เพราะพื้นฐานของคนไข้กลุ่มนี้ร่างกายไม่แข็งแรง การที่หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองอักเสบแบบนี้ หลอดเลือดไม่ได้เสียแค่จุดเดียว แต่มักเสียทั้งร่างกาย เพราะฉะนั้นอวัยวะอื่น ๆ ของคนไข้จึงไม่ดีนัก เช่น โอกาสที่ตับไตจะวายได้ และสมองก็จะขาดเลือดเพราะความดันต่ำ
แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก
- การผ่าตัดใหญ่แบบเปิด ถือเป็นการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน โดยผ่าตัดผ่านทางช่องทรวงอกหรือช่องท้อง ขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของหลอดเลือดแล้วใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน จะต้องหนีบหลอดเลือดแดงใหญ่เหนือบริเวณที่โป่งพองและแตกออกให้ทัน เพื่อไม่ให้เลือดไหลมากจนความดันตกและช็อก ในขณะเดียวกันศัลยแพทย์ต้องผ่าตัดอย่างรวดเร็ว เพราะอวัยวะภายในขาดเลือดไปเลี้ยงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะการผ่าตัดหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องอก มิเช่นนั้นจะเสี่ยงเกิดอัมพาตครึ่งท่อนล่าง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาหลังผ่าตัด ยิ่งระยะการโป่งพองหรือแตกยาวเท่าไร ต้องผ่าตัดซ่อมแซมหลายระดับเท่าไร โอกาสที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
- การผ่าตัดด้วยวิธีการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปใส่แทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง เป็นทางเลือกใหม่ เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ลดอัตราการเสี่ยงและการให้เลือด ผลในระยะสั้นและระยะกลางยังมีประสิทธิภาพดี แต่ต้องติดตามผล เนื่องจากขดลวดมีโอกาสเคลื่อนได้ จึงต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และฉีดสีอย่างน้อยปีละครั้ง กลุ่มคนไข้ที่เหมาะกับการผ่าตัดแผลเล็ก คือ คนไข้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอด มีประวัติการผ่าตัดในช่องท้องหรือช่องอกมาก่อนหลายครั้งหรือเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย การผ่าตัดแบบการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดจะลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหลังผ่าตัดได้ดีกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเปิด
ประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวด ไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม เพราะมีแผลเล็ก แต่ยังเกี่ยวข้องกับการลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้สูงอายุที่มีโรคแทรกซ้อนมีโรคประจำตัวมาก มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เสมหะค้างอยู่ในปอด ติดเชื้อ ปอดบวม ปอดอักเสบได้ง่าย เมื่อเทียบการผ่าตัดแผลเล็กจะเจ็บปวดน้อยกว่า ระยะเวลาในการฟื้นตัวเร็วสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเร็ว นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 5 – 7 วัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้ด้วย ถ้าเป็นการผ่าตัดแบบเปิด ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลอาจจะยาวถึง 2 สัปดาห์”
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดแต่ละวิธีจะขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของโรค สภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและประเมินเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบและร่วมวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยทีมบุคลากรที่มีความชำนาญและโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์การผ่าตัดพร้อม ซึ่งโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การรักษาผู้ป่วย 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้สามารถทำการผ่าตัดได้ทันทีในห้องผ่าตัดอัจฉริยะ (Hybrid Operating Room) เป็นการรวมห้องสวนหัวใจและห้องผ่าตัดหัวใจไว้ด้วยกัน พร้อมด้วยเตียงผ่าตัดแบบพิเศษและระบบถ่ายภาพเอกซเรย์แบบ Flexmove – Heart Navigator ที่สามารถถ่ายภาพหัวใจได้ทุกมุมอย่างละเอียด ช่วยให้แพทย์ทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ให้สารน้ำอย่างรวดเร็ว (Fluid Management System) มากกว่า 6 ลิตรต่อนาที ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถให้สารน้ำทดแทนการเสียเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้รักษาความดันโลหิตขณะผ่าตัดได้คงที่ ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้