หญิงวัยหมดประจำเดือน เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

หญิงวัยหมดประจำเดือน เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
แชร์

เพราะความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้นได้ตามอายุ โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหลังหมดประจำเดือน ดังนั้นการใส่ใจดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

ผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือน

ภาวะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือภาวะผู้หญิงวัยทอง คือ ภาวะที่ผู้หญิงไม่มีประจำเดือนอย่างถาวร ซึ่งจะนับตั้งแต่การที่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี โดยอายุเฉลี่ย 50 ปีหรือระหว่างอายุ 45 – 55 ปี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการที่รังไข่หยุดทำงาน คือ อายุมากกว่า 40 ปี
  2. จากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเกิดได้ในอายุน้อยกว่า 40 ปี

อาการหมดประจำเดือน

โดยปกติรังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะหยุดทำงาน ทำให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ลดลง นำไปสู่อาการต่าง ของวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมาจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่

  • ร้อนวูบวาบ 
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย 
  • นอนไม่หลับ 
  • อารมณ์แปรปรวน 
  • ซึมเศร้าในบางคน

ซึ่งอาการมักเกิดในช่วง 3 – 4 ปีก่อนและหลังหมดประจำเดือน โดยช่วงเวลาที่เกิดขึ้นและความรุนแรงอาจแตกต่างกันในแต่ละคน และอาจไม่มีอาการได้ในบางคน นอกจากนี้ยังอาจพบโรคที่เกิดจากภาวะการขาดฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น โรคกระดูกพรุน ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น


หญิงวัยหมดประจำเดือน เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

วัยหมดประจำเดือนเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น เพราะโดยปกติฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยลดระดับไขมันไม่ดีและเพิ่มระดับไขมันที่ดีในเลือด ป้องกันไม่ให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายยืดหยุ่น เมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิงจึงส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันได้ทั่วร่างกาย รวมไปถึงหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง 


สังเกตอาการหลอดเลือดตีบ

ภาวะหลอดเลือดตีบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอยู่กับปริมาณความรุนแรงของหลอดเลือดที่ตีบในอวัยวะนั้น ๆ  เช่น 

  • หลอดเลือดหัวใจ : เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปแขนซ้าย กราม หรือไหล่ เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก 
  • หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง : แขนขาอ่อนแรงเป็นซีก มุมปากตก พูดไม่ชัด
  • หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา : ปวดขาเวลาเดิน

ถ้าตีบไม่มากก็จะไม่มีอาการ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แม้ตีบไม่มากและไม่มีอาการก็มีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) ได้ ถ้ามีปัจจัยบางอย่างเข้ามากระตุ้น เช่น ความเครียด อดนอนหรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายเกิดความเครียด โดยจะกระตุ้นให้เกิดการปริแตกของเปลือกไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดหัวใจ (Rupture Plaque) และมีลิ่มเลือดมาอุดตัน ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ในที่สุด 


การตรวจเช็กหลอดเลือดตีบ

สามารถตรวจภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันในอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่

  • หลอดเลือดหัวใจ ในกรณีที่ไม่มีอาการจะใช้การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) หากมีอาการจะตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (CT Angiography Coronary Artery) รวมไปถึงการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยวิธีอื่น ๆ ขึ้นกับข้อบ่งชี้และดุลยพินิจของแพทย์
  • หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ใช้การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound) 
  • หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงส่วนปลาย อย่างขา แขน ใช้การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Ankle Brachial Index : ABI) 

การรักษาหลอดเลือดตีบ

หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา เช่น ยาลดไขมันเพื่อลดหรือป้องกันไม่ให้ตีบเพิ่มขึ้นหรือสำหรับหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมันสามารถป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ รวมถึงการกินยาต้านเกล็ดเลือด และยาตัวอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ ถ้าหากอาการรุนแรง สำหรับหัวใจต้องรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวด (Stent) หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิต ช่วยลดอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยการรักษาผู้ป่วยจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจพิจารณา 


การป้องกันหลอดเลือดตีบ

  • ตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำตามข้อบ่งชี้
  • ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจหากมีข้อบ่งชี้
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับทางด้านหัวใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบหนักปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ลดความเครียด
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
  • งดสูบบุหรี่
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ฯลฯ ควรดูแลควบคุมโรคให้ได้ตามเกณฑ์ของข้อบ่งชี้


อย่างไรก็ตามเมื่อคุณผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองควรพึงระวังภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้อมูลข้างต้น
หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตรวจเช็กสุขภาพเพื่อป้องกันและดูแลโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องต่าง รวมไปถึงโรคหัวใจหากมีได้อย่างถูกวิธี

แชร์