รักษา 9 โรคปอดและโรคในช่องอกด้วยการส่องกล้องแผลเดียว (Uniportal VATS)

รักษา 9 โรคปอดและโรคในช่องอกด้วยการส่องกล้องแผลเดียว (Uniportal VATS)
แชร์

Video – Assisted Thoracic Surgery (VATS) คือ การผ่าตัดส่องกล้องอวัยวะในช่องอก โดยการผ่าตัดโดยใช้เลนส์ยาวร่วมกับอุปกรณ์ผ่าตัดยาวพิเศษผ่านทางช่องระหว่างซี่โครงโดยไม่มีการถ่างขยายซี่โครง มีความแตกต่างกับการผ่าตัดในอดีตที่ใช้การผ่าเปิดในอดีต (Thoracotomy) หรือผ่าตัดกระดูกหน้าอกทั้งท่อน (Median Sternotomy) คือ ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดต่ำกว่า ขนาดแผลเล็ก แผลอยู่ข้างหรือใต้ราวนมมีผลต่อความสวยงาม กลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมีการตัดกระดูก และระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 1 – 3 วันเทียบกับ 5 – 7 วันสำหรับผ่าตัดแบบเปิด

โรคหัวใจ, UNIPORTAL VATS

ในอดีตการผ่าตัดส่องกล้องจะมีแผลผ่าตัดประมาณ 3 – 4 แผล โดยจะมีแผลแรกสำหรับกล้องส่อง แผลที่สองสำหรับอุปกรณ์ดึงรั้ง แผลที่สามสำหรับอุปกรณ์ผ่าตัดและอุปกรณ์ตัดเย็บ โดยแผลมีขนาด 3 – 4 เซนติเมตร มีหลักการลงแผลผ่าตัดคล้ายกับการเล่นเบสบอล โดยให้ตำแหน่งกล้องบริเวณชายโครงช่องกระดูกซี่โครงที่ 7 – 8 ส่วนตำแหน่งแผลผ่าตัดหลักและแผลสำหรับอุปกรณ์ช่วยดึงจะอยู่ช่องกระดูกซี่โครงที่ 4 – 6 บริเวณด้านหน้าและด้านหลัง จึงเห็นได้ว่าถึงแม้จะใช้แผลเล็กและไม่มีการถ่างขยายซี่โครง แต่แผลผ่าตัดต้องผ่าช่องซี่โครงหลายช่อง ปกติคนเราจะมีเส้นประสาทวิ่งชิดขอบล่างของกระดูกซี่โครงแต่ละซี่ การใส่อุปกรณ์เข้าไปจึงทำให้คนไข้ยังมีโอกาสที่จะมีอาการเจ็บแผลหลังผ่าตัดอยู่ได้จากการระคายเคืองของเส้นประสาทหลายตำแหน่ง
 

โรคหัวใจ, UNIPORTAL VATS

เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียว

ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องเพิ่มขึ้นไปอีก โดยการผ่าตัดเพียงแค่แผลเดียว (Uniportal VATS) โดยอุปกรณ์ทั้งหมดจะผ่านลงไปในแผลขอบหลังของราวนมขนาดประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ใช้เทคนิคในการผ่าตัดสูงและอุปกรณ์ยาวพิเศษ แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความชำนาญการผ่าตัดส่องกล้องชนิด 2 และ 3 แผลมาก่อน โดยคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดชนิดแผลเดียวจะมีอาการเจ็บแผลน้อยกว่าผ่าตัด 3 แผลและมีความพึงพอใจหลังการผ่าตัดมากกว่า โดยที่ผลการผ่าตัดไม่ต่างกัน1-4

การผ่าตัดส่องกล้องสามารถทำได้ในโรคดังนี้

  1. โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer)
  2. โรคลมรั่วในช่องอกที่เป็นซ้ำ (Recurrent Pneumothorax)
  3. โรคเนื้องอกต่อมไทมัส (Thymoma)
  4. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis)
  5. โรคถุงน้ำจากหลอดอาหาร (Esophageal Cyst)
  6. โรคถุงน้ำจากหลอดลม (Pericardial Cyst)
  7. โรคติดเชื้อในช่องอก (Empyema Thoracis)
  8. โรคน้ำขังในช่องหัวใจและช่องอกจากมะเร็ง (Malignant Pericardial/Pleural Effusion)
  9. โรคมะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer)

จะเห็นได้ว่า การผ่าตัดส่องกล้องนั้นสามารถทดแทนการผ่าตัดเปิดได้เกือบทุกโรคในช่องอก แต่มีข้อจำกัดในบางโรค เช่น ภาวะมะเร็งปอดระยะลุกลาม ภาวะมะเร็งเยื่อบุช่องอก (Malignant Mesothelioma) ภาวะติดเชื้อในช่องอกเรื้อรัง (Chronic Empyema Thoracis) เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับเทคนิคและประสบการณ์ของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดจะเป็นผู้ตัดสินใจวิธีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว ส่องกล้องหลายแผล หรือผ่าตัดเปิด โดยทางทีมแพทย์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีความพร้อมที่จะผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียวในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวและพร้อมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยทุกคน


เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า 

ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากจำนวนและขนาดของแผลที่ลดลง ยังมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Navigation Bronchoscopy – ENB) โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีระบบ GPS ค้นหาตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณปอดที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้อย่างถูกต้องชัดเจน ทำให้แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญสามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องได้ตรงตามตำแหน่งในระยะเวลาที่ไม่นาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดรักษาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

Uniportal VATS


เนื่องจากในปัจจุบันด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกที่ให้ภาพ 3 มิติที่ให้รายละเอียดได้ดีในบริเวณปอด (Low Dose CT) ทำให้ผู้ป่วยพบก้อนเนื้อที่ปอดได้ตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก หากทำการรักษาได้โดยเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถทำการรักษาด้วยเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า (ENB)


อ้างอิง :
1. Shen Y et al. Single versus multiple-port thoracoscopic lobectomy for lung cancer: a propensity-matched study Eur J Cardiothorac Surg. 2016 Jan;49 Suppl 1:i48-53
2. Xu GW et al.A prospective comparative study examing the impact of uniportal and three portal video-assisted thoracic surgery on short-term quality of life in lung cancer. Zhonghua Wai Ke Za Zhi. 2018 Jun 1;56(6):452-457
3. Mu JW et al. A Matched Comparison Study of Uniportal Versus Triportal Thoracoscopic Lobectomy and Sublobectomy for Early-stage Nonsmall Cell Lung Cancer. Chin Med J (Engl). 2015 Oct 20;128(20):2731-5.
4. Young R et al.  Is uniport thoracoscopic surgery less painful than multiple port approaches? Interact Cardiovasc Thorac Surg. 2015 Mar;20(3):409-14
แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com