รักปอดและหัวใจ...ต้องห่างไกลบุหรี่

รักปอดและหัวใจ...ต้องห่างไกลบุหรี่
แชร์

การสูบบุหรี่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะปอดและหัวใจเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะพิษของบุหรี่เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งที่ปอด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ ตับอ่อน  อีกทั้งสารพิษในควันบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือดได้ เพราะฉะนั้นการเลิกสูบบุหรี่และไม่ยุ่งกับบุหรี่ตั้งแต่แรก คือการดูแลปอดและหัวใจให้แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายที่มาจากพิษภัยของบุหรี่
 

บุหรี่กับสถิติที่ควรรู้

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2018 ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกประมาณ 1,100 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก โดยประมาณ 890,000 คน เสียชีวิตจากการสูดดมควันบุหรี่มือสอง ทั้งนี้นอกจากโรคมะเร็งปอดและโรคระบบทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตในผู้ที่สูบบุหรี่ ยังมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 3 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด อาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่คือหนทางของการดูแลสุขภาพที่ดีในระยะยาว เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิดที่เป็นผลเสียต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น

(REF: https://news.thaipbs.or.th/content/272522)

 

บุหรี่กับมะเร็งปอด

อวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่โดยตรงคือ ปอด เมื่อสูบบุหรี่ไปนาน ๆ ปอดจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้เป็นโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และร้ายแรงจนเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด ซึ่งในประเทศไทยมะเร็งปอดพบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง และมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง คือ ไม่ได้สูบเองแต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดนั้น อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไอ เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ปวดตามตัวหรือกระดูก นอกจากนี้แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูบบุหรี่มากกว่า 30 pack year (คำนวณจากจำนวนซองที่สูบต่อวัน x จำนวนปีที่สูบเช่น 2 ซองต่อวัน 15 ปี = 2×15 = 30 pack year เป็นต้น) หรือผู้ที่เลิกสูบน้อยกว่า 15 ปี เข้ารับการตรวจ Low dose CT Chest (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด) ปีละครั้งเพื่อการค้นหามะเร็งระยะแรก (Lung Cancer Screening) ทำให้พบมะเร็งปอดระยะแรกซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น ถ้าหากแพทย์ผู้รักษาสงสัยจะส่งตรวจโดยการเจาะเนื้อที่ปอดมาดูเพื่อยืนยันชิ้นเนื้อ  หลังยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอด ก็จะมีการทำ CT หรือ PET/CT ร่วมกับ MRI สมองเพื่อวินิจฉัยระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

สำหรับการรักษามะเร็งปอด หากเป็นระยะแรกจะใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง หากเป็นระยะกระจายหรือที่เรียกกันว่า “ระยะที่ 4” จะใช้การรักษาด้วยยา ซึ่งมีทั้งเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือ ยากลุ่ม Immunotherapy คือ การให้ยาเพื่อให้เม็ดเลือดขาวกลุ่ม Cytotoxic T Cell ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ใช้มากขึ้นในมะเร็งหลายชนิด ถึงแม้การรักษาจะดีขึ้นอัตราการมีชีวิตยาวนานมากขึ้น มะเร็งปอดยังถือเป็นการตายจากมะเร็งอันดับ 1 เพราะฉะนั้นจึงควรลด ละ เลิกสูบบุหรี่ แต่หากเป็นแล้วควรรีบเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์โดยเร็ว เพราะหากพบมะเร็งปอดระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายได้

 

บุหรี่กับหลอดเลือดและหัวใจ 

ผู้ที่สูบบุหรี่เส้นเลือดจะเกิดความเสื่อมและตีบตันเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10 – 15 ปี ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิงทั่วไปเกือบ 40 เท่า และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่และดูแลป้องกันหัวใจให้แข็งแรงคือสิ่งที่ควรตระหนักอยู่เสมอ

การสูบบุหรี่ส่งผลต่อหัวใจโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดที่หัวใจตีบ ความดันเลือดสูงขึ้น ที่สำคัญคือสารพิษในควันบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ อย่างนิโคติน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจหดตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น และสารพิษอีกชนิดที่มีความรุนแรงไม่แพ้กันคือ คาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง กล้ามเนื้อหัวใจจะได้รับออกซิเจนน้อยลง หัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นคนที่เลิกสูบบุหรี่นานกว่า 10 ปี โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

สำหรับการเลิกสูบบุหรี่นั้นทำได้ไม่ยาก ขอเพียงมีใจที่มุ่งมั่น เพราะเพียงแค่เลิกสูบบุหรี่เพียงไม่กี่ชั่วโมง อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดจะลดลง สารพิษในร่างกายน้อยลง ที่สำคัญเด็กที่พ่อแม่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของหินปูนในหลอดเลือดแดงหัวใจมากกว่า 4 เท่า และมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบตันมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่


เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ คือ กำจัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ทั้งหมด อย่าเข้าใกล้คนสูบบุหรี่ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดการความเครียดด้วยการไม่สูบบุหรี่ ช่วงแรกที่เลิกสูบบุหรี่อาจรู้สึกหงุดหงิด ให้สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ ดื่มน้ำให้มาก อาบน้ำให้ร่างกายสบายตัว  ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพียงเท่านี้การกลับมามีสุขภาพดีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com