หัวใจเจ้าตัวเล็กต้องระวัง COVID-19 กับคาวาซากิ

หัวใจเจ้าตัวเล็กต้องระวัง COVID-19 กับคาวาซากิ
แชร์

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้มีการค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างโรคที่มีอาการคล้ายคาวาซากิกับ COVID-19 ที่ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ เนื่องจากการอักเสบของหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการโป่งพองหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเกิดข้อสงสัยควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

 

เด็กกับ COVID-19

โรคติดเชื้อ COVID-19 หรือชื่อที่เป็นทางการคือ SAR–CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสที่พบการระบาดครั้งแรกที่เมือง Wuhan ประเทศจีนในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากนั้นได้มีการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เมื่อเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันหลายล้านคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลายแสนคนทั่วโลก โรคนี้ได้มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยเป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบนอกประเทศจีน COVID-19 เป็นไวรัสในตระกูล Corona Virus รายงานระยะแรกพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่อายุน้อยกว่า 18 ปีมีเพียง 2.2% ในประเทศจีนและ 2% ในสหรัฐอเมริกา


เด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ประมาณกลางเดือนเมษายน 2563 (หลังเริ่มมีการระบาดอย่างหนักในยุโรปประมาณ 1 เดือน) กุมารแพทย์ในประเทศอังกฤษพบเด็กป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดท้อง และอาเจียน บางรายมีผื่นและอาการช็อก ซึ่งคล้ายกับ Toxic Shock Syndrome และบางรายมีผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งในผู้ป่วยบางคนมีอาการครบข้อบ่งชี้ของการวินิจฉัยโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนารี (Coronary Artery) เหมือนกับเด็กที่เป็น Kawasaki Disease โดยพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อ COVID-19 มาก่อน โดยอาจจะพบหรือไม่พบเชื้อในทางเดินหายใจของผู้ป่วยก็ได้


ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ของประเทศสหราชอาณาจักรได้มีการออกจดหมายเตือนกุมารแพทย์เกี่ยวกับโรคดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยให้ชื่อว่า Pediatric Multisystem Inflammatory Syndrome – Temporally Associated with COVID-19 (PIMS-TS) หลังจากนั้นได้มีการยืนยันว่าพบภาวะดังกล่าวในเด็กจากอีกหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยบางรายมีอาการรุนแรงจนทำให้เด็กเกิดการเสียชีวิต ส่วนทาง Center for Disease Control (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการออกคำเตือนเกี่ยวกับโรคนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยให้ชื่อว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) 

 

โรคหัวใจกับ KAWASAKI DISEASE

โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Dr.Tomisaku Kawasaki ในปี 1961 ทั้งนี้ได้มีรายงานในวารสารทางการแพทย์ในญี่ปุ่นและอังกฤษในปี 1967 และ 1974 ตามลำดับ ปัจจุบันสาเหตุของโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยมีไข้มากกว่า 4 – 5 วัน อาการอื่น ๆ ได้แก่ 

  1. ผื่น
  2. ตาแดง
  3. ปากและ/หรือลิ้นแดง (Strawberry Tongue)
  4. มือเท้าบวมแดง
  5. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต


หากมีอาการอย่างน้อย 4 ข้อจะเรียกว่าเป็น Complete Kawasaki Disease แต่ในบางรายอาจมีอาการไม่ถึง 4 ข้อ เรียกว่า Incomplete Kawasaki Disease ผลแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ การอักเสบของเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Artery) โดยในบางรายอาจทำให้เกิดการโป่งพองของเส้นเลือดหัวใจ (Aortic Aneurysm) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction)

 

โรคหัวใจกับ MIS-C

โรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ MIS-C ทำให้เกิดภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ มีอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยเด็กที่มีความคล้ายคลึงกับผู้ป่วยเด็กที่เป็น Kawasaki Disease หลายประการ เช่น 

  • มีไข้สูง
  • ผื่น
  • ตาแดง
  • ปากแดง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

มีรายงาน Coronary Artery Aneurysm ในผู้ป่วยบางราย แต่ก็มีลักษณะหลายประการที่แตกต่างกัน เช่น อายุผู้ป่วย MIS-C มักจะเป็นเด็กโต  ซึ่งต่างจาก Kawasaki Disease ซึ่งมักเป็นในเด็กเล็ก อาการทางระบบทางเดินอาหารและอาการช็อกพบใน MIS-C มากกว่าในโรค Kawasaki Disease และผลทางห้องปฏิบัติการที่มักพบว่ามีความรุนแรงของการอักเสบที่มากกว่า นอกจากนี้ยังไม่พบว่า MIS-C มีอุบัติการณ์ที่สูงในเด็กที่มีเชื้อสายเอเชียตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เหมือนที่พบใน Kawasaki Disease 


ดูแลผู้ป่วย MIS-C และ KAWASAKI DISEASE

การดูแลรักษาผู้ป่วย MIS-C ในขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเหมือนผู้ป่วย Kawasaki Disease เนื่องจากภาวะ MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็น MIS-C ควรได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเพื่อติดตามเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของ Kawasaki Disease มักได้รับการรักษาเหมือนโรค Kawasaki Disease ส่วนในผู้ป่วยอื่น ๆ มักเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) และ/หรือให้ยากลุ่มที่ใช้ยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการทำงานมากเกินกว่าปกติ


ทั้งโรค MIS-C และ Kawasaki Disease เกิดจากการมีภาวะภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ (Autoimmune Disease) ซึ่งแสดงอาการคล้ายกัน ส่วนการติดเชื้อ COVID-19 สามารถทำให้เกิด Kawasaki Disease หรือไม่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้นหากเด็กมีอาการคล้ายคลึงกับ MIS-C หรือโรค Kawasaki Disease แม้จะไม่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะการรักษาโดยเร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสหายและรอดชีวิตได้ นอกจากนี้ทุกคนควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข


Ref.

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/hcp/pediatric-hcp.html

https://emergency.cdc.gov/han/2020/han00432.asp

https://www.ecdc.europa.eu/sites/default/files/documents/covid-19-risk-assessment-paediatric-inflammatory-multisystem-syndrome-15-May-2020.pdf

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com