ผู้ป่วยหัวใจควรรู้เมื่อต้องผ่าตัดรักษาช่วงโควิด-19

ผู้ป่วยหัวใจควรรู้เมื่อต้องผ่าตัดรักษาช่วงโควิด-19
แชร์

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและคนใกล้ชิดมักมีความกังวลใจหากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดในช่วงโควิด-19 จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเป็นสำคัญ นอกจากนี้การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 คือสิ่งที่ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องตระหนักอยู่เสมอเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น


ผู้ป่วยโรคหัวใจกับโควิด
-19 

อย่างที่ทราบกันดีว่าไม่ว่าใครก็มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 20% รวมถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น การใช้เครื่องช่วยหายใจ การเข้าห้องฉุกเฉิน และระยะเวลาในการรักษาที่นานขึ้น ดังนั้นการระมัดระวังดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 คือสิ่งสำคัญที่สุด ได้แก่

  1.  เลี่ยงการออกนอกบ้าน โดยเฉพาะการไปในที่ชุมชนหรือพบเจอผู้คนจำนวนมาก เพราะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 
  2. ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และหากอยู่ในบ้านกับผู้ที่ออกไปนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยเช่นเดียวกัน
  3. ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งต่าง โดยเฉพาะเวลาสั่งอาหารหรือสั่งของไม่ควรรับโดยตรงอาจมีเก้าอี้หรือโต๊ะสำหรับวางของ เมื่อได้รับของแล้วควรฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ทันที หลังจากแกะแล้วควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้งาน นอกจากนี้การชำระเงินควรเป็นการโอนเงิน อย่าใช้เงินสดเพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค 
  4. แยกกันรับประทานอาหาร โดยนั่งเว้นระยะห่างและรับประทานอาหารในจานของตัวเองเท่านั้น หากจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารร่วมกันต้องมีช้อนส้อมส่วนตัวและช้อนกลางแยกของแต่ละคน รวมถึงเว้นระยะห่างในการนั่งรับประทานอาหารเพื่อจะได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
  5. ใช้ห้องน้ำคนละห้อง ถ้าทำได้จะดีที่สุด แต่หากผู้ป่วยโรคหัวใจไม่สามารถแยกห้องน้ำได้ ควรให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำใช้ห้องน้ำก่อนแล้วตามด้วยผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญควรทำความสะอาดห้องน้ำและใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดอีกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ

นอกจากนี้ผู้ที่ดูแลหรือใกล้ชิดผู้ป่วยโรคหัวใจต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน 


ผู้ป่วยโรคหัวใจกับการพบแพทย์ช่วงโควิด-19

ช่วงโควิด-19 ผู้ป่วยโรคหัวใจจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจเช็กปัจจัยเสี่ยงและตรวจการควบคุมโรคว่าเป็นไปด้วยดีหรือไม่ แพทย์จะได้ปรับการรักษาและการรับประทานยาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคและช่วยให้การรักษาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นเมื่อต้องมาโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจควรสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย และรีบกลับเมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อย

สำหรับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีมาตรฐานในการให้บริการทั้งในด้านความสะอาดของสถานที่เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการจะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย ลดระยะเวลาในการพูดคุยขณะทำการรักษา นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยมาถึงจะต้องเข้ารับการตรวจวัดอุณหภูมิและซักประวัติเพื่อเช็กความเสี่ยงในการป่วยเป็นโควิด-19 หากมีความเสี่ยงจะต้องตรวจรักษาในบริเวณที่โรงพยาบาลจัดไว้เท่านั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจจึงมั่นใจได้ในการเข้ารับบริการกับทางโรงพยาบาล


ผู้ป่วยโรคหัวใจกับการผ่าตัดช่วงโควิด-19

ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น จะต้องเป็นการผ่าตัดในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะเร่งด่วน และเป็นการผ่าตัดที่พิจารณาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเท่านั้น โดยผู้ป่วยและผู้ดูแลทุกคนจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และต้องไม่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด 

หากผู้ป่วยโรคหัวใจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีโดยไม่สามารถรอผลตรวจโควิด-19 ได้ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องผ่าตัดทันที แพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ทันทีภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในทุกกระบวนการเพื่อความปลอดภัยสูงสุด 


อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการไม่รุนแรงแพทย์จะพิจารณาเลื่อนผ่าตัดออกไปประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อให้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เป็นที่ไว้วางใจและลดความกังวลใจให้กับผู้ป่วยในการผ่าตัดรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นสำคัญ ผู้ป่วยโรคหัวใจจึงควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง มาพบแพทย์ตามนัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com