HEART FAILURE รักหัวใจคนใกล้ตัวไม่ให้ล้มเหลว

HEART FAILURE รักหัวใจคนใกล้ตัวไม่ให้ล้มเหลว
แชร์

หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายสามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิดทั้งกับตัวเองและคนใกล้ตัว ที่สำคัญเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคเพื่อให้รับมือได้ถูกและทันท่วงทีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ


หัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้

ภาวะหัวใจล้มเหลว (HEART FAILURE) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและรับเลือดกลับเข้าหัวใจได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย และอาจบวมจากการคั่งของน้ำในร่างกาย ซึ่งอาจมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน


เด็กกับภาวะหัวใจล้มเหลว

เด็กสามารถพบภาวะหัวใจล้มเหลวได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ โดยมาจากหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี อาจร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้หากไม่รีบตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกวิธี เด็กที่หัวใจล้มเหลวมักโตช้า ขาดสารอาหาร เหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็นชื้น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว หัวใจโต ตับโต มักมาจากปัญหากล้ามเนื้อหัวใจและโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จึงควรตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจโดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์มักตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด คลื่นเสียงหัวใจ และพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของโรค


HEART FAILURE รักหัวใจคนใกล้ตัวไม่ให้ล้มเหลว

วัยรุ่นกับภาวะหัวใจล้มเหลว

วัยรุ่นสามารถเผชิญกับภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจติดเชื้อโรค หรือความผิดปกติของหัวใจที่อาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน หากรู้ว่าตนเองเป็นโรคหัวใจมาก่อนอาจมีการดูแลสุขภาพหัวใจ แต่เนื่องจากวัยรุ่นไม่ได้ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจจึงต้องหมั่นสังเกตตนเองและรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็ว อาการที่พบส่วนใหญ่คือ เหนื่อยง่าย ขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยผิดปกติ เจ็บแน่นหน้าอกด้านซ้าย หายใจลำบาก ริมฝีปากมีสีเขียว ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หมดสติ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะหากร้ายแรงอาจเสียชีวิตแบบฉับพลันได้


ผู้ใหญ่กับภาวะหัวใจล้มเหลว

ในผู้ใหญ่นอกจากความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันที่อาจถึงแก่ชีวิต ยังมีความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากโรคต่าง ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว การเต้นหัวใจผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้รู้ความผิดปกติและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี อาการหัวใจล้มเหลวที่พบคือ เหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจไม่ออก ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่ออก เท้าหรือขาบวม ท้องอืดไม่ย่อย ตลอดจนน้ำขังตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อ่อนเพลียไม่มีแรง ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หมดสติ นอกจากนี้หากเคยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าคนทั่วไป


ผู้สูงวัยกับภาวะหัวใจล้มเหลว

ผู้สูงวัยมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ ยิ่งในผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ยิ่งมีความเสี่ยงมาก รวมถึงผู้สูงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น อาการที่พบคือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก บวมที่ขาหรือเท้า กดแล้วมีรอยบุ๋ม ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงอาจมีอาการทางประสาทอย่างมึนงง สับสน เป็นลม หมดสติ จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติแม้เพียงนิดเดียวควรต้องรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจทันที นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี


HEART FAILURE รักหัวใจคนใกล้ตัวไม่ให้ล้มเหลว
รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ อันดับแรกคือต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย หากมีอาการหายใจไม่ออกแพทย์อาจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ หากมีน้ำในปอดแพทย์จะทำการให้ยาขับปัสสาวะ รวมถึงการให้ยาต่าง ๆ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้อาจต้องทำการฉีดสีสวนหัวใจบอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโดยเร่งด่วน มีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติที่ช่วยเรื่องการบีบตัวของหัวใจ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งเป็นไปตามการประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง 


ดูแลหัวใจตัวเองและคนใกล้ตัวไม่ให้ล้มเหลว

  • สังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ
  • ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว 
  • ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจของตัวเองและคนใกล้ชิดตามคำแนะนำของแพทย์
  • หากมีโรคประจำตัวต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พกยาติดตัวเสมอ ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • เลือกกินอาหารที่ดี ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ดูแลสุขภาพใจให้ห่างไกลซึมเศร้า
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรเดินทางไกลคนเดียวควรมีคนสนิทติดตามไปด้วยทุกครั้ง

ตรวจสุขภาพหัวใจเชิงลึกสำคัญ

โรคหัวใจมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจนแต่มีโอกาสเสียชีวิตกะทันหันเพราะโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาดังนั้นการตรวจสุขภาพหัวใจเชิงลึกเป็นประจำทุกปีจึงสำคัญมากไม่ใช่แค่สุขภาพหัวใจของตัวเองแต่สุขภาพหัวใจของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและผู้สูงวัยควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพราะหากรู้ทันโรคก่อนย่อมช่วยให้รับมือได้เร็วประเมินความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตดูแลรักษาหัวใจได้ถูกวิธีมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน  

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com