กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน รีบรักษาทัน โอกาสรอดสูง

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน รีบรักษาทัน โอกาสรอดสูง
แชร์

“เจ็บหน้าอกแบบฉับพลัน” ระวังอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณกำลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

หากคุณกำลังทำกิจกรรมประจำวันแล้วเกิดเจ็บหน้าอกนาน แน่น หายใจไม่ออก หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายหรือออกแรงทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จนรู้สึกร้าวไปที่ไหล่ ใจสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เหงื่อออก หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ในทันที เพราะถ้าถึงมือหมอไม่ทันเวลา อาจอันตรายถึงชีวิตได้


ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบตัน เพราะมีไขมันเกาะผนังหลอดเลือดสะสมเป็นเวลานาน (Plaque) จนผนังหลอดเลือดตีบแคบลง หากวันใดที่ Plaque ดังกล่าวเกิดการปริตัวหรือแตกเป็นแผลจะทำให้เลือดแข็งตัวกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด จนเลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงหัวใจ กลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายหรือตายบางส่วน ถ้าหากเป็นหลอดเลือดที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ส่วนต้นที่ส่งเลือดเลี้ยงในพื้นที่กล้ามเนื้อบริเวณกว้างก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตกระทันหันอย่างรวดเร็วได้

ปัจจุบันแม้ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยก็มีอายุน้อยลง แต่ข่าวดีก็คือ อัตราคนไข้ที่เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลง โดยจากสถิติกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าวพบว่า ประมาณร้อยละ 10 – 15 เสียชีวิตตั้งแต่ยังมาไม่ถึงโรงพยาบาล ขณะที่ร้อยละ 10 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล กลุ่มที่ได้รับการรักษาเร็วก็จะมีโอกาสรอด ความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจจะน้อย สามารถกลับไปมีชีวิตเป็นปกติได้ แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจเสียหายมาก แม้จะรอดชีวิต ในระยะยาวผู้ป่วยที่เคยประสบภาวะดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังจนบีบตัวไม่ไหว ทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายเหมือนคนอ่อนแรง เหนื่อยง่าย กลายเป็นผู้ป่วยติดเก้าอี้ ติดเตียง


รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

หากมีภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน วิธีแก้ไขอันดับแรก คือ ต้องทำให้เลือดกลับมาไหลโดยเร็วที่สุด ในอดีตแพทย์จะนิยมให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ปัจจุบันมีการรักษาโดยใช้สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ซึ่งเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จกว่าการรับประทานยา

แม้ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการแสดงที่หลากหลาย แต่กลุ่มผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่เรียกว่า ST Elevation MI (STEMI) เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะในกระบวนการรักษา ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ “ระยะเวลา” โดยกล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มตาย เมื่อขาดเลือดประมาณ 40 นาที ซึ่งในเวลานี้หากทำให้เลือดกลับมาไหลสู่หัวใจได้ ความเสียหายของหัวใจจะน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ส่วนอีกช่วงเวลาสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น Golden Period ของการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ดีที่สุด คือประมาณ 4 ชั่วโมง ดังนั้นการวินิจฉัยของแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะด้านจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้วินิจฉัยการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา โอกาสช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดได้มาก ปัจจุบันเริ่มมีการขยายระยะเวลาเปิดหลอดเลือดไปถึง 12 ชั่วโมง  แม้โอกาสดังกล่าวจะเหลือน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด 


3 – 4 ชั่วโมง หลังหัวใจขาดเลือด เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า Best Window ในเวลาดังกล่าวแพทย์ต้องพยายามเปิดหลอดเลือดให้ได้ภายใน 90 นาที เพื่อทำให้กล้ามเนื้อได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ถือว่ามีโอกาสได้คืนอย่างน้อยร้อยละ 60 – 70 แต่ถ้าเลยหลังจากเวลานั้นไปแล้วโอกาสน้อยมาก


คนที่รักษาสุขภาพร่างกายตลอดชีวิต ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ดีกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย เมื่อเป็นโรคความรุนแรงของโรคจะลดลง ระยะฟื้นตัวจะสั้นกว่า ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  ซึ่งสิ่งที่แก้ได้และทำให้ดีขึ้นได้คือ ดูแลสุขภาพร่างกาย ปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยง ออกกำลังกาย ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่ ดูแลโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะปกติ ควบคุมน้ำหนักให้ดีที่สุด และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com