เป็นโรคหัวใจใช่จะอด Sex

เป็นโรคหัวใจใช่จะอด Sex
แชร์

สำหรับคู่รักหรือคู่สมรส วิธีแสดงความรักให้กับหวานใจของคุณสามารถทำได้หลายรูปแบบ รวมถึงการเมคเลิฟด้วย หลาย ๆ ครั้งที่เราเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตในขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือที่ได้ยินคำว่า “ตายคาอก” ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ และหนึ่งในนั้นบางคนเชื่อว่า เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสำคัญ 


ผู้ที่เป็นโรคหัวใจสามารถมีกิจกรรมบนเตียงได้หรือไม่?
 

ตราบใดที่คุณยังสามารถเดินขึ้นสะพานลอย 3 ชั้นได้อย่างสบาย ไม่เหนื่อยหอบ คุณก็สามารถปฏิบัติภารกิจรักของคุณได้เช่นกัน จริงอยู่ที่เมื่อเวลามีเพศสัมพันธ์ อัตราการเต้นของหัวใจจะเต้นถี่และแรงมากถึง 120 ครั้ง / นาที  แต่แค่เพียง 1 นาทีเท่านั้นในตอนใกล้จะเสร็จกิจ จึงสามารถทำกิจกรรมได้แบบไม่ต้องกังวล”

สัญญาณเตือนเสี่ยงโรคหัวใจ

สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีอาการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เช่น
  • ใจสั่น
  • หายใจเร็วหรือหายใจลำบากจนเหนื่อยหอบ
  • เจ็บแน่นกลางอกรุนแรง
  • อ่อนเพลียมาก
  • เวียนหัวจะเป็นลม
  • เหงื่อออกมาก

ดูแลหัวใจเมื่อมี SEX

ผู้ป่วยโรคหัวใจควรปฏิบัติตัวให้ถูกวิธีและระมัดระวัง หากไม่มั่นใจแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงระดับการออกกำลังกายของคุณ เพื่อป้องกันอาการผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดอันตราย แต่หากเกิดอาการผิดปกติขณะร่วมเพศ สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือ
  • นอนพักอยู่กับเตียงนิ่ง ๆ
  • อย่าเพิ่งรีบลุกเดิน
  • หากจำเป็นต้องเคลื่อนไหวให้ทำอย่างช้า ๆ 
  • ขอความช่วยเหลือ
  • หากจำเป็นควรรีบเข้ารับการรักษา

นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกระตุ้นทุกชนิด รวมถึงยาบางประเภท เช่น ไวอากร้า, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงท่วงท่าร่วมเพศที่พิสดาร และหากเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ถึงระดับการออกกำลังอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคหัวใจ คู่รักของผู้ป่วยโรคหัวใจก็สามารถร่วมดูแล พูดคุย และสังเกตอาการให้แก่กันและกันอีกด้วย เพียงแค่ระมัดระวังในการใช้กำลัง และรู้วิธีดูแลตนเองก็สามารถปฏิบัติภารกิจรักของคุณและคนรักได้อย่างเป็นปกติและมีความสุข


ใส่ใจเพื่อบำรุงใจ

การดูแลร่างกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ในผู้ป่วยโรคหัวใจอาจต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลัง เพื่อให้ปลอดภัยทั้งกายและสุขภาพหัวใจ เพื่อเพิ่มเติมความฟิตให้ร่างกาย ทำได้ง่าย ๆ เพียง

  1. ใส่ใจการกิน
    เลือกและลดอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมาก คือ ลดเกลือในอาหาร “ให้ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ลดการเติมเกลือในอาหารจานโปรด” ร่างกายจะต่อต้านโซเดียมหรือความเค็มด้วยการดูดซึมน้ำเข้ากระแสเลือดมากขึ้น เมื่อปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักไปด้วย
  2. ใส่ใจร่างกาย
    ขณะออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานหนักกว่ากล้ามเนื้อแขนขาถึง 2 เท่า การออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น การเดินหรือขี่จักรยานถือว่าเหมาะสมและสามารถทำได้
  3. ใส่ใจการนอน
    พักผ่อนให้เพียงพอ ปัจจุบันพบว่ามีหนุ่มสาวในช่วงอายุ 24 – 32 ปีเกือบ 20% เป็นโรคความดันโลหิตสูง แม้อาการกำเริบไม่บ่อย แต่มีโอกาสทำให้หัวใจล้มเหลวได้ทุกเมื่อ ดังนั้นควรแบ่งเวลานอนให้ได้ 6 – 8 ชั่วโมง เพราะการอดนอนบ่อย ๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหัวใจ
  4. ใส่ใจจิตใจ
    ทำจิตใจให้สงบ ช่วยลดความเครียดได้ เพราะหากเครียดบ่อย ๆ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก หัวใจจะเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้จะเป็นศัตรูตัวฉกาจของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะในร่างกายยากขึ้น ฝึกนั่งสมาธิทุกวัน หรือเล่นโยคะทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 เดือน จะช่วยให้ฮอร์โมนความเครียดลดลง และช่วยการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น


เป็นโรคหัวใจ...ใช่จะอด Sex
แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com