FIT อย่างไรไม่ให้หัวใจ FAILURE

FIT อย่างไรไม่ให้หัวใจ FAILURE
แชร์

อาการวูบคาสนามของนักกีฬาอาชีพหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่วูบขณะออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น  เพราะบางคนอาจจะฟื้นกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางคนอาจไม่ฟื้นกลับขึ้นมา เพราะฉะนั้นการตรวจเช็กหัวใจเป็นประจำสม่ำเสมอและครบทุกรายการตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันหัวใจไม่ให้ล้มเหลว

นักกีฬาทำไมหัวใจล้มเหลว

สถิติของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า นักกีฬามีโอกาสเสียชีวิตถึง 1 ใน 50,000 คนต่อการแข่งขันกีฬาระดับวิทยาลัย และอาจจะสูงถึง 1 ใน 5,000 คนในการแข่งขันบาสเกตบอล โดยนักกีฬาที่อายุมากกว่า 35 ปีมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากถึง 5% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของนักกีฬา และพบในนักกีฬาผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุที่ทำให้นักกีฬาวูบกลางสนามมีหลายสาเหตุได้แก่

  • กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มนักกีฬาอาชีพ เกิดจากการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรม 30% ซึ่งจะเจอในนักกีฬาผิวดำมากเป็นพิเศษ หากตรวจพบว่ามีพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อหัวใจแล้วลงแข่งกีฬาหนัก ๆ อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตแบบ Sudden Death ได้

     

    เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหนาจะขัดขวางระบบการไหลเวียนของเลือด หัวใจจึงทำงานหนักยิ่งขึ้น ถ้านักกีฬาไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาแล้วลงแข่งที่ต้องออกกำลังกายอย่างหนัก จะทำให้หัวใจทำงานหนัก เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายแบบฉับพลัน วูบกลางสนามได้
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อไวรัส  มีอันตรายรุนแรง จึงเป็นข้อห้ามในการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายอาจกระตุ้นให้หัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะและหยุดเต้นได้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตขณะออกกำลังกายได้
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกาย เพราะการแข่งขันต้องใช้เวลาออกกำลังกายนานและออกแรงหนักเกินไป ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าหัวใจเสียสมดุลและเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

นอกจากนี้บางคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองมีภาวะหัวใจผิดปกติ โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปี จึงอาจละเลยการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ รู้ตัวอีกทีอาจสายเกินไป


FIT อย่างไรไม่ให้หัวใจ FAILURE

โซนออกกำลังกายกับอัตราการเต้นของหัวใจ

การออกกำลังกายมีตั้งแต่โซนเบาที่สุดถึงหนักที่สุด โดยอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดต่อนาที (MPHR) จะมีความแตกต่างกัน การรู้จักโซนการออกกำลังกายจะช่วยให้เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพหัวใจ

  • Zone 1 50 – 60% MPHR (Very Light) ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง ไม่เหนื่อยมาก
  • Zone 2 60 – 70% MPHR (Light) เพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย ช่วยดึงไขมันออกจากร่างกาย ดีต่อหัวใจและปอด
  • Zone 3 70 – 80% MPHR (Moderate) ช่วยระบบเผาผลาญ เพิ่มความฟิต เหงื่อออกมากขึ้น เหมาะกับคนรักสุขภาพที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย
  • Zone 4 80 – 90% MPHR (Hard) ช่วยเพิ่มความทนทานให้กล้ามเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย หายใจเร็วขึ้น กล้ามเนื้อตึงล้ามากขึ้น เหมาะกับนักกีฬาหรือคนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
  • Zone 5 90 – 100% MPHR (Maximum) ช่วยเพิ่มศักยภาพในการออกกำลังกาย รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว กล้ามเนื้อตึงล้ามาก เหมาะกับนักกีฬาที่ฝึกซ้อมเพื่อลงแข่งขัน

ตรวจเช็กความฟิตนักกีฬาก่อนลงแข่ง

การตรวจเช็กความฟิตของนักกีฬาก่อนลงแข่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยป้องกันอาการวูบคาสนามและหัวใจล้มเหลวขณะออกกำลังกาย ได้แก่

  • ซักประวัติคัดกรองอย่างละเอียดและตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKGElectrocardiogram) คัดกรองความผิดปกติของหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ สามารถลดการเสียชีวิตในกลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปีได้ถึง 90%
  • ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test) ทำให้ทราบระบบไหลเวียนเลือดและกราฟไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันระยะที่มากกว่า 70% ได้ 
  • ตรวจหัวใจด้วย MRI  (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน แสดงการบีบตัวของหัวใจได้ใกล้เคียงอวัยวะจริงมากที่สุด สามารถแสดงตำแหน่งทางเดินของเส้นเลือดหัวใจว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญคือ ใช้ในการตรวจค้นหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตรวจหาพังผืดในโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เพื่อป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกาย 
  • ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Scan: CAC) ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 

หากออกกำลังกายแล้วมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก คล้ายจะเป็นลม ใจสั่นควรต้องตรวจเช็กสุขภาพโดยเร็วอย่างละเอียดและครบถ้วน


AED ผู้ช่วยชีวิตในสนาม

ในทุกการแข่งขันผู้จัดการแข่งขันควรเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้พร้อม โดยเฉพาะเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจเพื่อหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่ถูกต้องอีกครั้ง และควรมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถทำการช่วยชีวิตได้ทันทีหากมีเหตุฉุกเฉินขณะทำการแข่งขัน

ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจะต้องถูกวิธีและอยู่ในระหว่าง 3 – 5 นาที เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ได้แก่

  1. ก่อนช่วยเหลือ ผู้ช่วยเหลือตรวจสอบสภาพแวดล้อมว่าปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงหรือไม่
  2. โทรสายด่วน 1669 หรือรถพยาบาลสนามที่มีเครื่อง AED
  3. ทำการช่วยเหลือ โดยเริ่มจากการเรียกผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าไม่มีการตอบสนองให้ทำการฟื้นคืนชีพโดยกดหน้าอกทันทีจนกว่าเครื่อง AED หรือทีมรถพยาบาลจะมาถึง


สำหรับนักกีฬาอาชีพนั้นสิ่งสำคัญคือการตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกปีเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายพร้อมที่จะลงแข่ง โดยเฉพาะการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด ส่วนคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายก็ควรตรวจเช็กสุขภาพทุกปี ที่สำคัญหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายจะได้พบแพทย์ได้ทันท่วงที

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com