ฟิตพิชิตโรคหลอดเลือดหัวใจ
ใครที่เคยเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจแล้วออกกำลังกายไม่ได้นั้นคิดผิด ยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หากขาดการออกกำลังกายจะส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบ ร่างกายอ่อนแอ และมีปัญหาเรื่องการฟื้นตัว
หัวใจกับการออกกำลังกาย
คนไข้โรคหัวใจบางคนกลัวว่าถ้าออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจวาย ซึ่งอุบัติการณ์แบบนี้มักจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของหัวใจ แต่ในกลุ่มที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอพบว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ ทำให้การหดตัวของเส้นเลือดหัวใจน้อยลง เพิ่มแขนงหลอดเลือดฝอยในหัวใจ สามารถคุมความดันไขมันและน้ำหนักตัวได้ ในทางอ้อมทำให้การตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น การออกกำลังกายจึงเป็นประโยชน์กับคนไข้โรคหัวใจในกลุ่มอาการคงที่ สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า ควรออกกำลังกายแบบไหน มีความเสี่ยงอะไรบ้าง อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้
การที่คนไข้หลอดเลือดหัวใจจะออกกำลังกายได้หรือไม่ต้องดูว่า เป็นโรคหัวใจหรือยังและมีความเสี่ยงที่จะเป็นหรือไม่ กลุ่มที่เป็นโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์อายุรกรรมหัวใจหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจก่อนว่าสามารถออกกำลังกายได้แล้วหรือยัง ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน ไขมัน หรือมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรสังเกตว่ามีความผิดปกติทางโรคหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ หากตรวจเช็กแล้วอาการปกติสามารถออกกำลังกายได้ เพราะการออกกำลังกายถือเป็นยาตัวหนึ่งที่ป้องกันการเกิดโรคซ้ำและช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
แอโรบิกกับผู้ป่วยโรคหัวใจ
คนไข้ในกลุ่มหลอดเลือดหัวใจควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง แต่มีความต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น เดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ ถีบจักรยานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป และเสริมด้วยการเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ เช่น ยกน้ำหนักหรือการออกกำลังกายแบบวงจรที่เรียกว่าเซอกิตเทรนนิ่ง มากกว่า 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 5 – 7 วัน เป็นการออกกำลังกายระดับปานกลาง โดยจะมีอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังสามารถพูดคุยเป็นประโยคได้
ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจกับการออกกำลังกาย
สำหรับคนไข้ที่เพิ่งผ่าตัดหัวใจ แนะนำว่าควรมีผู้ดูแลจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพ เพราะ
- ระยะที่ 1 อาจมีโอกาสเกิดภาวะความเสี่ยงระหว่างการออกกำลังกายได้ ซึ่งต้องประเมินความเสี่ยงเป็นราย ๆ ไปว่า คนนี้มีอาการเสี่ยงที่เกิดจากการผิดปกติจากการออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหนเพียงใด เช่น การเต้นของหัวใจผิดจังหวะหรือหลอดเลือดตีบซ้ำ หากมีความเสี่ยงมากอาจต้องใช้ตัวช่วยในการมอนิเตอร์ระหว่างการออกกำลังกาย เช่น การติดคลื่นหัวใจระหว่างการออกกำลังกาย การวัดออกซิเจนปลายนิ้ว การวัดชีพจร การวัดความดัน เป็นต้น
- ระยะที่ 2 อยู่ในระหว่าง 1 – 3 เดือนแรก หลังการผ่าตัดหัวใจกลับไปอยู่ที่บ้านใช้ชีวิตตามปกติ แต่ยังต้องมาตรวจตามนัด หรือมีการมาออกกำลังกายที่โรงพยาบาลบ้าง ในกรณีที่คนไข้มีความเสี่ยงเยอะ แต่ถ้าคนไข้ปกติแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกายทุกวัน
- ระยะที่ 3 หลัง 3 เดือนไปแล้ว คนไข้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ต้องระมัดระวังภาวะแทรกซ้อน
การออกกำลังกายเหมือนเป็นยา แต่ยังต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลระยะยาว และเป็นการป้องกันโรคด้วย ในกลุ่มคนไข้สูงอายุที่ยังไม่สามารถเดินได้นาน แนะนำให้ออกกำลังกายแบบ Interval Training หากร่างกายแข็งแรงขึ้นจะค่อย ๆ ปรับระยะเวลาให้เป็นแบบ Continuous Training
“หลังจากออกกำลังกายคนไข้จะเริ่มรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยลง ในช่วงแรก ๆ อาจมีอาการเหนื่อยบ้าง เพราะช่วงแรกหลังจากซ่อมแซม สมรรถนะอาจจะถดถอย แต่พอเราฟื้นฟูสมรรถภาพจะทำให้สมรรถภาพของแขนขาเพิ่มขึ้นก่อน คือความทนทานของกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นจากเดิม การเดินจะไม่ค่อยเหนื่อย ทำให้เดินได้มากขึ้น จากนั้นสมรรถภาพปอดและหัวใจจะเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าออกกำลังกายแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบมาพบแพทย์”
การออกกำลังกายเสมือนเป็นการป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่งไม่ให้เป็นซ้ำ เพราะการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำ การออกกำลังกายจึงเหมือนยาที่ช่วยป้องกันโรค นอกเหนือจากการควบคุมอาหาร และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ให้เกิดโรค ทำให้สามารถลดปริมาณการบริโภคยาลงได้ ลดการทำงานของตับและไต การออกกำลังกายจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสำหรับทุกคนที่อยากมีสุขภาพดีไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจก็เช่นเดียวกัน
คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจตีบเฉียบพลันอายุ 50 ปีหลังทำการผ่าตัดหัวใจแล้วกลัวไม่กล้าออกกำลังกาย นอนเฉย ๆ นาน 2 เดือนจนทำอะไรได้น้อยลง เพราะปกติคนเราเวลาที่นอนเฉย ๆ จะมีภาวะถดถอย กำลังกล้ามเนื้อจะฝ่อลง พอกลับไปยืนหรือเดินจะรู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น เดินไม่ไหว แต่หลังจากที่เริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มสปีดให้เดินเร็วขึ้น เพิ่มระยะเวลามากขึ้น ทำให้คนไข้ดีขึ้น ผ่านไป 1 – 2 เดือน เขารู้สึกว่าสมรรถภาพทางกายดีขึ้นสามารถเดินได้ไกลขึ้น”