ปวดท้องอย่าชะล่าใจ หลอดเลือดแดงใหญ่อาจปริ แตก

ปวดท้องอย่าชะล่าใจ หลอดเลือดแดงใหญ่อาจปริ แตก
แชร์

อาการปวดท้องอาจไม่ใช่ปวดท้องธรรมดาเสมอไป แต่อาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ หากเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง ซึ่งโรคนี้อาจทำให้หลอดเลือดปริ แตก หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันเวลาอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รับมือได้ทันท่วงที

 

รู้จักหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง 

หลอดเลือดแดงใหญ่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ หากเกิดความผิดปกติย่อมส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดภายในร่างกาย โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องมักเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดแดง ส่วนใหญ่พบในผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 65 – 75 ปี โดยเฉพาะผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยหลายคนมักไม่รู้ตัวและละเลยการตรวจเช็ก ทำให้รู้ตัวอีกครั้งอาการรุนแรงยากเกินแก้ไข


ปวดท้องแบบไหนหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง 

อาการปวดท้องที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องจะปวดในตำแหน่งที่หลอดเลือดโป่งพอง ลักษณะเด่นคือจะปวดตุ๊บ ๆ ปวดตามชีพจร แต่บางคนอาจมีการปวดที่แตกต่างกันออกไป หากไม่รีบทำการรักษาผนังหลอดเลือดจะถูกกระแทกจากความดันโลหิตจะเริ่มบางและปริ ส่งผลให้หลอดเลือดแตก เลือดจะรั่วออกมาบริเวณรูที่ปริแตก หากทะลุไปบริเวณช่องท้องมีโอกาสเสียชีวิตทันทีสูงมากถึง 70 – 80%

แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีอาการปวดจะไม่เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องเสมอไป บางคนอาจมาด้วยอาการอื่น ๆ ได้ เช่น การปวดขาจากก้อนเลือดในหลอดเลือดที่โป่งหลุดไปอุดตันหลอดเลือดที่ขา หรือขาบวมจากการกดทับของหลอดเลือดที่โป่งพอง ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นจะต้องทำการตรวจอัลตราซาวนด์หรือทำ CT SCAN เพิ่มเติมเพื่อให้ผลการตรวจวินิจฉัยชัดเจนถูกต้อง

 

กลุ่มเสี่ยง

  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • คนในครอบครัวมีประวัติหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป


การตรวจวินิจฉัย 

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
  3. เอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ความละเอียดสูงที่ทรวงอกหรือช่องท้อง (256-Slice CT Scan)
  4. การตรวจแคลเซียมและหินปูนที่หลอดเลือดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ความละเอียดสูง CT 256 Slice (CT Coronary Calcium Score)


รักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องจำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพราะหากหลอดเลือดแดงใหญ่แตกจะเพิ่มอัตราเสี่ยงสูงในการเสียชีวิต โดยการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 วิธีได้แก่ 

  1. การผ่าตัดแบบเปิดช่องอกหรือช่องท้อง เป็นการผ่าตัดมาตรฐาน โดยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือด ซึ่งแพทย์จะทำการเปิดแผลใหญ่ตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงขาหนีบ จากนั้นใส่หลอดเลือดเทียมแทนหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง วิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีรูปริแตกของหลอดเลือดขนาดใหญ่และเสียเลือดมาก
  2. การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดถ่างขยายผ่านสายสวน โดยใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดถ่างขยายผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปใส่ซ้อนคร่อมตำแหน่งหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง ข้อดีคือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต


วิธีป้องกันโรค

การดูแลป้องกันความเสื่อมของผนังหลอดเลือดไม่ให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นและมีไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดจะช่วยลดการอักเสบและลดความเสี่ยงหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง ได้แก่ 

  • เลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • หากเป็นเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี
  • ควบคุมไขมันในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม


หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรงและพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องจำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องเป็นโรคที่ต้องทำการผ่าตัดรักษาในห้องผ่าตัดขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพพร้อมให้การผ่าตัดรักษาในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง และโรคนี้ไม่ได้จำกัดแค่ในคนอายุมาก สำหรับคนอายุน้อยแม้จะเสี่ยงน้อยกว่า แต่หากมีพันธุกรรมคนในครอบครัวเคยเป็น ก็ควรต้องเข้ารับการตรวจเช็กสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ เพื่อจะได้ดูแลรักษาอย่างทันท่วงที”

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com