ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ Coronary Calcium Scan (CAC)

ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ Coronary Calcium Scan (CAC)
แชร์

ภาวะหลอดเลือดแดงของหัวใจแข็ง

การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) เป็นการตรวจหาหลักฐานของภาวะหลอดเลือดแดงของหัวใจแข็ง (Atherosclerosis of Coronary Artery) การที่หลอดเลือดแดงแข็งเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมที่เป็นมาระยะเวลานานพอสมควรประมาณ 2 – 5 ปี สาเหตุจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง บุหรี่ โรคอ้วนลงพุง หรือกรรมพันธุ์ ทำให้หลอดเลือดแข็งขึ้นจากการอักเสบเรื้อรัง และสุดท้ายเป็นแคลเซียมไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป รวมทั้งมีการตีบของหลอดเลือด การพัฒนาของหลอดเลือดจนกลายเป็นคราบหินปูนเกาะตามหลอดเลือด การบ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดแข็งนั้นสามารถประเมินและวินิจฉัยได้โดยการส่งตรวจ Computerized Coronary Calcium Scan ซึ่งจะสามารถบอกได้ในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังเท่านั้น ในคนที่เป็นแบบเฉียบพลันอาจจะไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นรอยโรคใหม่


จุดสังเกตแคลเซียมหรือหินปูน

สำหรับพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจที่มีแคลเซียมหรือหินปูน เริ่มต้นจาก

  1. ลักษณะของแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจเริ่มตั้งแต่เป็นจุด (Fine Speckles) กลุ่มของจุดที่กระจาย (Fragmented) เล็ก ๆ (0.5 – 15.0 µm) เป็นรอยโรคที่เกิดใหม่มีความเสี่ยงต่อ Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน
  2. เมื่อแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นเป็นเส้นตามแนวหลอดเลือด (Diffuse Calcification)
  3. เมื่อแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นเป็นปื้นหรือแผ่นของแคลเซียม (Sheet of Calcification) ที่ขนาดมากกว่า 3 มิลลิเมตร ซึ่งหมายถึงการเป็นเรื้อรังมานาน โดยสรุปการบอกแคลเซียมหรือคราบหินปูนที่เกิดขึ้นเป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิด หรือเป็นของเก่าพอมีลักษณะที่บอกได้ จากลักษณะเริ่มเป็นจุด เส้น ๆ กลายเป็นหนา และกลายเป็นแผ่นหนาขึ้น




การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยคราบหินปูนในผนังเส้นเลือดหัวใจที่หนาตัว (CAC) ทำให้หลอดเลือดแดงหัวใจตีบแคบลง เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก การทำ Coronary Calcium Scan เป็นวิธีการตรวจเบื้องต้นที่ง่าย ไม่ต้องฉีดสี ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 15 นาที มีประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอนาคตที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยประเมินร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น รวมทั้งอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยมาประกอบในการวางแนวทางการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ผู้ที่ควรตรวจ Coronary Calcium Scan

ข้อบ่งชี้ในการทำ Coronary Calcium Scan ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจน้อยถึงปานกลาง ได้แก่

  • ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • เพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือวัยหมดประจำเดือน
  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • โรคอ้วนลงพุง
  • ไขมันในเส้นเลือดสูง
  • สูบบุหรี่

ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ

เทคนิคการทำ 
Coronary Calcium Scan

การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์โดยใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์พิเศษที่เรียกว่า Multidetector Row หรือ Multislice Computerized Tomography (CT) ซึ่งสแกนภาพหลายภาพของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ที่เส้นเลือด การทดสอบการถ่ายภาพจะดูที่ระดับของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ คราบหินปูนประกอบด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม และสารอื่น ๆ ในเลือด ซึ่งจะค่อย ๆ พัฒนาเกาะเพิ่มขึ้นกลายเป็นแผ่นหนาใหญ่ขึ้น จนทำให้เห็นคราบหินปูนที่ชัดเจนขึ้น

Coronary Calcium Scan กับความเสี่ยง

การสแกนหัวใจใช้เทคโนโลยี X – Ray ซึ่งมีปริมาณรังสีค่อนข้างน้อย (ประมาณ 1 Millisievert) เวลาที่ใช้ในการตรวจเพียง 10 – 15 นาทีเท่านั้น

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนรับการตรวจ
  • หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่กระตุ้นหัวใจให้ชีพจรเร็วขึ้น ได้แก่ งดชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
  • งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดคลุมของโรงพยาบาล
  • ถอดเครื่องประดับรอบคอหรือแผ่นต่าง ๆ ที่ติดบริเวณหน้าอก


ขั้นตอนระหว่างทำ
 Coronary Calcium Scan

  • แพทย์จะตรวจ / บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) ซึ่งจะบันทึกการเต้นของหัวใจในระหว่างการทำ Coronary Calcium Scan
  • ท่านอนจะต้องนอนหงายและต้องกลั้นหายใจนิ่งเพื่อให้ภาพมีความชัดเจน โดยผู้ป่วยอาจจะต้องกลั้นหายใจประมาณ 2 – 10 วินาที ในช่วงที่ถ่ายภาพ
  • กรณีที่อัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยเต้นเร็วมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อให้หัวใจเต้นในเกณฑ์ปกติ
  • ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที


การปฏิบัติตัวหลังทำ Coronary Calcium Scan

ไม่มีข้อควรระวังเป็นพิเศษหลังทำ Coronary Calcium Scan สามารถขับรถกลับบ้านได้และทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ

การแปลผล Coronary Calcium Scan

  • การแปลผลปริมาณหินปูนมีความสัมพันธ์กับโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบหรืออุดตัน โดยใช้การแปลผลจากคะแนน Agatston Score คะแนน 0 หมายความว่า ไม่มีแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงหัวใจ แสดงว่าโอกาสต่ำในการเกิด Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตันในอนาคตน้อย
  • คะแนน 1 – 100 หมายความว่า มีแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงหัวใจน้อย มีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิด Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย
  • คะแนน 101 ถึง 400 หมายความว่า มีแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงหัวใจระดับปานกลาง มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเป็นในการเกิด Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาในการตรวจรักษา
  • คะแนนตั้งแต่ 400 ขึ้นไป หลอดเลือดแดงหัวใจอาจมีภาวะหลอดเลือดตีบแอบแฝงอยู่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบสูงมาก รวมทั้ง Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาในการตรวจรักษาเพิ่มเติม

CAC Score 10 – Year Mortality Risk Guidance Reassure
0 Very Low (<1%) Reassure; maintenance of healthy diet and lifestyle.
1 – 100 Low (<10%)
Maintenance of healthy diet and
lifestyle
101 – 400 Moderate (10–20%) Aspirin recommended
Statins considered reasonable
101-400 & >75th centile Moderately High (15-20%) Reclassify as high risk
Aspirin recommended
Statins considered reasonable
>400 High (>20%) Aspirin recommended
Statin recommended, to achieve
target LDL <2.0 mmol/L
Consider functional assessment.
* Suggested management based on CAC results for asymptomatic patients

Source: 2017 CSANZ  Calcium Score Position Statement

 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com