โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
โรคหลอดเลือดสมองอุดตันปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด หรือมีคนในครอบครัวเคยเป็น Stroke มาก่อน
สัญญาณอันตรายหลอดเลือดสมองอุดตัน
- แขนขาอ่อนแรง
- ชาครึ่งซีก หน้าหรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น
- ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ
- อาการเวียนหัว หรือวูบแบบเฉียบพลัน
หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชม.เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที
ปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือดสมองอุดตัน
- โรคความดันโลหิตสูง 70% ของผู้ป่วย Stroke จะมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ เพราะหลอดเลือดแข็งตัวง่าย ถ้าระดับความดันสูง 105 มิลลิเมตรปรอทจะมีโอกาสเสี่ยงมากถึง 10 – 12 เท่า และเมื่อลดความดันโลหิตได้ 5 – 6 มิลลิเมตรปรอทจะลดโอกาสเสี่ยงได้ 40%
- โรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงกว่าปกติ 2 – 3 เท่า เพราะโรคเบาหวานทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวทั่วร่างกายได้ง่าย
- โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดขาดเลือดไปเลี้ยงมีโอกาสเกิด Stroke ได้ 2 – 5 เท่าของคนปกติ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation มีโอกาสเสี่ยง Stroke สูงถึง 6 เท่า ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากมีลิ่มเลือดไหลไปอุดที่สมอง หรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่พอ
- ผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หากหยุดบุหรี่ได้ 2 – 5 ปีพบว่าโอกาสเกิด Stroke ลดลง 30 – 40%
ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับผู้ที่เคยเป็น Stroke
ผู้ที่เคยเป็น Stroke มีโอกาสเป็นใหม่ประมาณ 15% ในปีแรกและจะลดลง 10% ในปีที่ 2 และลดเหลือ 5% ในปีหลัง ๆ การหายจากอาการของโรคไม่ได้แปลว่าโรคหายแล้ว เนื่องจากหลอดเลือดมีการเสื่อมอย่างต่อเนื่อง หลอดเลือดที่ยังไม่อุดตันแต่มีการตีบจะมีโอกาสอุดตันในภายหน้า หลอดเลือดที่โป่งพองและยังไม่แตกก็มีโอกาสแตกแล้วเกิดอาการขึ้นใหม่ จึงควรตรวจเช็กการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง Carotid Duplex เป็นประจำทุกปี
สอบถามเพิ่มเติมที่
ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com