ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiovascular MRI : CMR)

ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiovascular MRI : CMR)
แชร์

ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า

การตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจหัวใจที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ได้ใช้รังสีเอกซเรย์  MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นเครื่องมือที่ใช้ภายนอก (์Non – Invasive) ซึ่งไม่ต้องใส่อุปกรณ์การตรวจเข้าไปในร่างกาย MRI สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียดของโครงสร้างภายในของอวัยวะต่าง ๆ และสามารถแยกชนิดของเนื้อเยื่อแต่ละประเภทออกจากกันได้ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถให้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งแพทย์สามารถใช้ข้อมูลจากภาพ MRI เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจและวางแผนการรักษา

ขั้นตอนการทำ MRI

ปกติการทำ MRI จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง แตกต่างกันตามลักษณะ อาการ และความซับซ้อนของโรค  โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีแพทย์ผู้ชำนาญการและพยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางรังสี ดูแลตลอดระยะเวลาการตรวจหัวใจด้วนคลื่นสะท้อนไฟฟ้า


ก่อนการตรวจ

  • ถอดเครื่องประดับ
  • เปลี่ยนชุดของโรงพยาบาลก่อนทำการตรวจ
  • ในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการตรวจ Stress MRI ซึ่งต้องมีการให้ยากระตุ้นหัวใจทางหลอดเลือดจะต้องงดอาหารก่อนการตรวจ 4 ชั่วโมง


ระหว่างการตรวจ

  • เครื่องตรวจมีลักษณะเป็นอุโมงค์ เมื่อเข้าตรวจต้องอยู่ในท่านอนราบ
  • ระหว่างการตรวจจะมีเสียงดังจากปฏิกริยาของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผู้ป่วยจะได้รับการใส่ Ear Plug เพื่อป้องกันเสียงดัง
  • ระยะเวลาตรวจในบางรายอาจจะต้องได้รับการฉีดสารทึบแสงเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแสดงภาพอวัยวะภายในให้ชัดเจนขึ้น

หลังการตรวจ

  • ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

ข้อดีของการตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้านำมาใช้เพื่อการประเมินและวินิจฉัยโรคดังต่อไปนี้ 

  • ประเมินโครงสร้างทางกายวิภาค การทำงาน และพยาธิสภาพของหัวใจแต่ละส่วน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ความผิดปกติของหลอดเลือด เป็นต้น
  • วินิจฉัยโรคติดเชื้อและการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) เช่น การอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจ
  • ประเมินความเสียหายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) เช่น การถูกจำกัดการไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือแผลเป็นบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจหลังเกิดหัวใจวาย (Heart Attack)
  • วางแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ติดตามประเมินความก้าวหน้าของโรค
  • ประเมินการเปลี่ยนแปลงหลังผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ประเมินโครงสร้างทางกายวิภาคภายในหัวใจและการไหลเวียนเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 
นอกจากนี้การตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายังสามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคร่วมกับผลของการตรวจเอกซเรย์ (X-ray) หรือผลของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือในบางครั้งแพทย์เลือกใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าสู่ร่างกาย และในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เนื่องจากมีอาการแพ้อาหารทะเลอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในบางกรณีอาจต้องฉีดสารทึบแสงเพื่อให้เห็นภาพหัวใจและหลอดเลือดชัดเจนมากขึ้น


ข้อจำกัดการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
 

  • สตรีมีครรภ์
  • คนที่มีอวัยวะเทียมเป็นโลหะหนักภายในร่างกาย ได้แก่ ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant)  คนที่มีเส้นเลือดโป่งพองแล้วได้รับการผ่าตัดใส่คลิปหนีบโลหะ  คนที่ใส่ขดลวดในหลอดเลือดโคโรนารีไม่เกิน 8 สัปดาห์ และคนที่มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • คนที่ไม่สามารถนอนราบได้
  • คนที่เป็นโรคกลัวที่แคบ
  • คนที่มีโลหะฝังอยู่ในแก้วตา
  • คนทีมีตะกั่วฝังอยู่ในร่างกาย


โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีประสบการณ์การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มายาวนาน มีทีมสหสาขาวิชาชีพ และแพทย์ผู้ชำนาญ สามารถตรวจโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนและแปลผลได้ถูกต้องชัดเจน 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com