ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาได้

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาได้
แชร์

รู้จักภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง ภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน พบได้จากโรคหัวใจหลายชนิดทั้งที่พบพยาธิสภาพ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และไม่พบพยาธิสภาพ เช่น ไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจวาย ขึ้นอยู่กับอัตราเร็ว ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งสภาพพยาธิของหัวใจ ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์นั้นมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้สามารถค้นหาสาเหตุของความผิดปกติและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมได้มากกว่าเดิม ซึ่งการวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดใดนั้น แพทย์มักจะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ให้เดินบนสายพาน ติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านทางโทรศัพท์ และกระตุ้นหัวใจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งวิธีหลังนี้ปัจจุบันจะนำมาใช้เพื่อหาสาเหตุในผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติที่หัวใจห้องบน ความผิดปกติของการนำไฟฟ้าที่หัวใจห้องล่าง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การรักษาด้วยยา การจี้หัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุ การฝังเครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติหรือเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจไว้บริเวณหน้าอก รวมไปถึงการผ่าตัดแก้ไขภาวะไฟฟ้าลัดวงจร

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ หรือที่เรียกว่า Atrial Fibrillation (AF) นับเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบมากที่สุด โดยสาเหตุนั้นเกิดจากการนำไฟฟ้าผิดปกติอันเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ เบาหวาน และหลอดเลือดแข็งตัว รวมไปถึงผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดหัวใจ ผู้ที่มีความเครียด อ่อนล้า ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือผู้ที่หยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากภาวะการอุดกั้น ซึ่งการเกิด AF นั้นจะทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้ไม่ดี ส่งผลให้ร่างกายส่วนอื่นขาดอาหารและออกซิเจน ในขณะเดียวกันเลือดที่เหลือตกค้างอยู่ในหัวใจห้องบนจะแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด และอาจหลุดเข้าไปในระบบไหลเวียนของเลือดจนไปสู่สมอง แม้จะไม่ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีความรุนแรง เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดอื่น ทำให้อ่อนเพลียเรื้อรัง เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งการรักษานั้นแพทย์จะใช้สายสวนชนิดพิเศษทำงานด้วยพลังงานคลื่นวิทยุจี้ที่จุดกำเนิดของการเต้นผิดปกติ


หลังได้รับการรักษาจนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติต้องให้ความสำคัญในการดูแลตนเอง ทั้งเรื่องการรับประทานยา การควบคุมอาหาร การพักผ่อน รวมไปถึงการออกกำลังกาย และสิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือ การดูแลสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคาร H โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
info@bangkokhospital.com