มีลูกได้ไหม ถ้าเป็นโรคลิ้นหัวใจ

มีลูกได้ไหม ถ้าเป็นโรคลิ้นหัวใจ
แชร์

ความใฝ่ฝันของคุณแม่ทุกคนคือการคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาสมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นหนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยกันมากคือ หากคุณแม่เป็นโรคลิ้นหัวใจสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ระดับความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจที่คุณแม่ต้องเผชิญ


ระดับความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจที่พบในคุณแม่

ระดับความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจที่พบในคุณแม่สามารถดูได้จากอาการที่ปรากฏเป็นหลัก เรียกว่า Functional Class แบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ 

  1. Class I สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติโดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย ใจสั่น อาการแน่นหน้าอก
  2. Class II ขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังมากขึ้นจะเริ่มเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก
  3. Class III ขณะทำกิจกรรมตามปกติแม้เพียงเล็กน้อยจะเริ่มเหนื่อย ใจสั่น หรือ แน่นหน้าอก เช่น การขึ้นบันไดเพียง 2 ชั้นก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว เป็นต้น
  4. Class IV ขณะนั่งเฉย ๆ หรือนั่งพักจะมีอาการหอบเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก

 
จากข้างต้นที่กล่าวมา หากอยู่ใน Class I และ Class II คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ระหว่างตั้งครรภ์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์หัวใจคุณแม่จะสูบฉีดเลือด (Cardiac Output) เพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติถึง 40% เนื่องจากมีเจ้าตัวน้อยในครรภ์ โดยจะเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์และสูงสุดในช่วงกึ่งกลางการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่ลิ้นหัวใจรั่วมากหรือตีบมากอยู่ใน Class III หรือ Class IV ต้องพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจทันทีเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม


ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์

หากผู้ป่วยรู้ว่าตนเองเป็นโรคลิ้นหัวใจแล้วยังไม่ได้ตั้งครรภ์ แนะนำว่าให้ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีให้เลือกใช้หลายชนิด หลัก ๆ มี 2 แบบคือ 

  • ลิ้นหัวใจสังเคราะห์ที่ทำจากโลหะ ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์และอาจทำให้เด็กพิการได้
  • ลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อ ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดประมาณ 3 เดือนแล้วไม่จำเป็นต้องทานอีกต่อไป แต่อายุการใช้งานของลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อคือประมาณ 10 ปี ดังนั้นถ้าลิ้นหัวใจเสื่อม ลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบก็ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขใหม่


คุณแม่ป่วยโรคลิ้นหัวใจขณะตั้งครรภ์

หากคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วพบว่าตนเองเป็นโรคลิ้นหัวใจจะต้องพิจารณาระดับความรุนแรงด้วยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจ ถ้าความรุนแรงไม่มากสามารถดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิดกับแพทย์ที่มีความชำนาญ แต่ถ้าหากอยู่ในระดับที่รุนแรงมากจะต้องพิจารณาจากอายุครรภ์ ถ้าเพิ่งตั้งครรภ์ในช่วง 2 – 3 เดือนแรก แพทย์อาจยุติการตั้งครรภ์ด้วยการขูดมดลูก แต่ถ้าตั้งครรภ์ไปแล้วประมาณ 5 เดือน แพทย์จะดูแลและให้ยาเพื่อประคับประคองอาการจนเด็กโตพอสมควร คือประมาณ 36 สัปดาห์แล้วจึงทำการผ่าคลอด โดยแพทย์จะบอกถึงความเสี่ยงที่คุณแม่ต้องพบ เช่น การแท้งบุตร เด็กเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ เป็นต้น เพราะการใช้ยานั้นมีผลกับการเติบโตของเด็กในครรภ์ ซึ่งในภาวะนี้ความรุนแรงของอาการที่ปรากฏกับคุณแม่ คือหัวใจสำคัญในการเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะยื้อชีวิตทารกไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
 

คุณแม่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วตั้งครรภ์

หากคุณแม่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วตั้งครรภ์ ถ้าเป็นลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นลิ้นหัวใจสังเคราะห์ที่ทำจากโลหะอาจต้องหยุดทานยาละลายลิ่มเลือดแล้วเปลี่ยนไปใช้ยาฉีดตามที่แพทย์สั่ง ในกรณีนี้สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องยอมรับคือ การใช้ยาทางด้านหัวใจมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก อีกทั้งถ้าคุณแม่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ยาที่ทานอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก ทำให้พิการได้


ดูแลหัวใจคุณแม่ให้ดี

การตรวจสุขภาพคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์อย่างละเอียด โดยเฉพาะการตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจจะช่วยให้คุณแม่สามารถวางแผนการมีเจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดีและช่วยให้คุณแม่คุณลูกมีหัวใจที่แข็งแรง

 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com