อาหารบำรุงเลือดดูแลหัวใจ
การใส่ใจรับประทานอาหารบำรุงเลือดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยป้องกันโลหิตจาง ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี บำรุงเลือดให้มีความสมบูรณ์ เพราะหากโลหิตจางรุนแรงอาจส่งผลกับการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ จึงไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
ระบบเลือดในร่างกาย
ร่างกายผู้ใหญ่ประกอบไปด้วยเลือดประมาณ 1 ใน 12 ส่วนของน้ำหนักร่างกายทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่น้ำหนัก 60 กิโลกรัมจะมีเลือดประมาณ 5 ลิตร ซึ่งในเลือดประกอบไปด้วยพลาสมา เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด โดยร่างกายมีธาตุเหล็กประมาณ 40 – 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งธาตุเหล็กจะอยู่ในเม็ดเลือดแดงในรูปของฮีโมโกลบินและเก็บสะสมอยู่ที่ตับและม้าม เม็ดเลือดแดงถูกสร้างที่ไขกระดูกและออกมาอยู่ในกระแสเลือด ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปยังปอดและเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน หลังจากนั้นเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายและธาตุเหล็กจะถูกปล่อยออกมาและนำกลับไปใช้ใหม่ในการสร้างฮีโมโกลบินและเม็ดเลือดแดงใหม่อีกครั้ง ซึ่งสารอาหารสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และวิตามินบี 12
ธาตุเหล็กกับภาวะโลหิตจาง
หนึ่งในสาเหตุของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก คือ การได้รับธาตุเหล็กน้อย เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ เลือด ตับ เช่น คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือรับประทานผักที่มีสารต่อต้านการดูดซึมของธาตุเหล็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งความต้องการธาตุเหล็กในแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ สรีรวิทยา การสูญเสียทางประจำเดือน และการเจริญเติบโต ดังนั้นปริมาณเหล็กที่ร่างกายควรได้รับ ผู้ใหญ่ชาย 1.04 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ใหญ่หญิง 9.4 – 24.7 มิลลิกรัมต่อวัน
แหล่งอาหารและการดูดซึมธาตุเหล็ก
แหล่งอาหารของธาตุเหล็กและการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารประกอบไปด้วย 2 รูปแบบ คือ
- สารประกอบฮีม (Heme Iron) ธาตุเหล็กในรูปฮีมร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยตรงและสามารถถูกดูดซึมไปใช้ได้สูงกว่าร้อยละ 20 – 30 มีอยู่ในอาหาร เช่น เลือด เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องในสัตว์ ไก่ ปลา อาหารทะเล
- สารประกอบที่ไม่ใช่ฮีม (Non – Heme Iron) ธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม การดูดซึมจะขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหรือขัดขวางการดูดซึมที่มีในอาหารด้วยกันและถูกดูดซึมไปใช้ได้น้อยเพียงร้อยละ 3 – 5 มีอยู่ในอาหาร เช่น พืชผัก ข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่แดง นม
วางแผนการกินรับธาตุเหล็ก
แบบแผนการบริโภคอาหารของคนไทยโดยส่วนใหญ่จะรับประทานข้าวและผักเป็นส่วนใหญ่
- ถ้าอาหารมีเนื้อสัตว์น้อยกว่า 30 กรัมต่อวัน หรือวิตามินซีน้อยกว่า 25 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุเหล็กในอาหารจะถูกดูดซึมไปใช้ได้น้อย คือเพียงร้อยละ 3 – 10
- ถ้าอาหารมีเนื้อสัตว์ประมาณ 30 – 90 กรัมต่อวัน หรือวิตามินซี 25 – 75 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุเหล็กในอาหารจะถูกดูดซึมไปใช้ได้ปานกลาง คือร้อยละ 10 – 12
- ถ้าอาหารมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบมากกว่า 90 กรัมต่อวัน หรือวิตามินซีมากกว่า 75 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมไปใช้ได้ดี คือสูงกว่าร้อยละ 15
เพราะวิตามินซีช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงมักแนะนำให้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กพร้อมน้ำส้ม น้ำมะนาว หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
เลือกอาหารอุดมธาตุเหล็ก
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปองค์ประกอบของฮีม ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ เลือด ตับ เครื่องในไก่ ปลา กุ้ง หอย เป็นต้น
- รับประทานเนื้อสัตว์วันละ 6 – 12 ช้อนกินข้าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นอกจากจะมีเหล็กสูงแล้วยังมีผลทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมจากอาหารอื่นดีขึ้น
- รับประทานผลไม้วันละ 3 – 5 ส่วน โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมจากอาหารได้มากขึ้น
- รับประทานผักผลไม้สด เพราะความร้อนในการประกอบอาหารจะทำลายวิตามินซีได้
- ไม่ควรดื่มนมวัวหรือนมถั่วเหลืองพร้อมมื้ออาหาร หรือพร้อมยาเสริมธาตุเหล็ก เพราะแคลเซียมในนมและไฟเตทในนมถั่วเหลืองจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กจากยาลดลง
ข้อมูล : คู่มือแนวทางการควบคุมและป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข