โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้อุปกรณ์พิเศษผ่านทางเทคนิคสายสวน

โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้อุปกรณ์พิเศษผ่านทางเทคนิคสายสวน
แชร์

โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ หากมีรูรั่วขนาดเล็กอาจยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นแล้วมีอาการผิดปกติ อาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อง่ายในวัยเด็ก หัวใจโต มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว บางรายมีเขียวหรือม่วงบริเวณปลายมือ เท้า และริมฝีปากก็สายเกินไปแล้ว ดังนั้นการสังเกตตนเองหรือไปพบอายุรแพทย์หัวใจเพื่อตรวจเช็กโดยละเอียดคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รักษาได้ทันเวลา สำหรับในปัจจุบันไม่ต้องกังวลกับการผ่าตัด เพราะสามารถรักษาด้วยเทคนิคสายสวนได้

รู้จักผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว

โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD : Atrial Septal Defect) เกิดจากการที่มีรูรั่วบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องบน ส่งผลให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวาในจังหวะที่หัวใจบีบตัว ส่งผลให้หัวใจมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กเล็กอาจจะไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาจตรวจพบจากการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจโดยบังเอิญ ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจจะฟังได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือบางรายมาด้วยอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum Type พบได้ประมาณ 75% ของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วทั้งหมด

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว สามารถทำได้โดยการฟังเสียงหัวใจและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง หรือ Echocardiogram ที่ใช้หลักการส่งคลื่นเสียงเข้าไปในทรวงอกแล้วแปลงเป็นภาพ โดยสามารถตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยง่ายหรือแน่นหน้าอก ซึ่งการตรวจที่ได้รับความนิยมมี 2 แบบ ได้แก่ 

  1. การทำ Echocardiogram ผ่านทางผนังหน้าอก (Transthoracic Echocardiogram)
    ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวมาก สะดวก ภาพให้รายละเอียดได้ดี แต่หากผู้ป่วยมีผนังหน้าอกหนา ผนังหน้าอกผิดรูป หรือช่องระหว่างซี่โครงแคบอาจได้ภาพที่ไม่ชัดเจน ควรตรวจในลักษณะส่องกล้องจะแน่ชัดกว่า
  2. การทำ Echocardiogram ส่องกล้องผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiogram)
    ตรวจหัวใจจากด้านในทางเดินอาหารที่อยู่ด้านหลังหัวใจเพื่อให้ได้ภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจที่ชัดเจน ช่วยให้การวินิจฉัยได้ชัดเจนและต้องทำในทุกรายก่อนส่งผู้ป่วยมาปรึกษา 

รักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum Type

หากผู้ป่วยมีรูรั่วขนาดเล็กมาก มีโอกาสที่รูจะปิดได้เอง ซึ่งมีเพียงส่วนน้อย ถ้ารูขนาดเล็กแล้วไม่มีอาการหรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันก็ไม่ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม แต่หากรูรั่วมีขนาดปานกลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรจนถึงขนาดตั้งแต่ 3 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นรูขนาดใหญ่ต้องรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจหรืออายุรแพทย์หัวใจเพื่อตรวจเช็กสุขภาพหัวใจทันที หากพบว่าจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาสามารถทำได้ด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะเข้าไปปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจที่เข้าทางหลอดเลือดดำที่ขา เมื่อถึงบริเวณรูรั่วอุปกรณ์จะถูกปล่อยไปวางยังตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูรั่ว หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อมาคลุมภายใน 3 – 6 เดือน โดยอุปกรณ์ที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของรูรั่วเป็นสำคัญ ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือ เลี่ยงความเสี่ยงและลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด แผลมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ประมาณ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว หลังทำการรักษาผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจติดตามผลด้วยการตรวจ Echocardiogram เป็นระยะ ๆ ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปีตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ซึ่งการใช้เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) ให้ได้ผลดีขึ้นอยู่กับความชำนาญ ประสบการณ์ของทีมหัวใจ ความพร้อมในเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจที่ทันสมัย ทำให้การรักษาได้ผลสำเร็จอย่างดี

***การปิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิดในผู้ใหญ่ชนิด Secundum ด้วยอุปกรณ์พิเศษชนิด ASD Occluder Device ผ่านสายสวน (Transcatheter ASD Secundum Closure in Adults) ได้ผลสำเร็จสูงและผลแทรกซ้อนน้อยมาก


อย่างไรก็ตามการรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษไม่สามารถทำได้ทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะกายวิภาค และพยาธิสภาพของรูรั่วของผู้ป่วยแต่ละคน  เช่น ถ้าขนาดรูรั่วมากกว่า 36 มิลลิเมตร มีรูรั่วหลายรู ขอบน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร หรือในรายที่มีโรคหัวใจอื่นร่วมด้วย เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ต้องพิจารณาส่งปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com