ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก ต้นเหตุสมองขาดเลือด

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก ต้นเหตุสมองขาดเลือด
แชร์

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก (Atrial Fibrillation) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า AF หรือ A-Fib เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดถึงร้อยละ 1 – 2 รายในประชาชนทั่วไป และพบบ่อยขึ้นตามอายุ โดยประชาชนในกลุ่มอายุ 80 – 90 ปี พบสูงสุดถึงร้อยละ 5 – 15 ซึ่งโรคหัวใจเต้นระริกเป็นเหตุให้เกิดโรคสมองขาดเลือดประมาณ 120,000 รายต่อปีทั่วโลก หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดทั้งหมดเป็นผลมาจากเป็นโรคหัวใจเต้นระริก ซึ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เกิดภาวะทุพพลภาพมากขึ้น และอายุขัยที่สั้นลง ดังนั้นการป้องกันโรคสมองขาดเลือดจากภาวะหัวใจเต้นระริกจึงเป็นอีกเป้าหมายสำคัญในการรักษา ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลายวิธี โดยมียาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดเป็นหัวใจหลักในการป้องกันรักษา


รู้จักภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกเป็นภาวะที่หัวใจห้องบนเต้นแบบกระจัดกระจายไร้ความสามัคคี ทำให้แรงบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป เลือดจึงหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนจนก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งสามารถหลุดออกจากหัวใจไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์และอัมพาตเฉียบพลันได้ โดยมีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า นำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตในที่สุด อีกทั้งยังส่งผลให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ทำให้แรงบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดลดน้อยลง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด

สาเหตุภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก

  • โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น
  • โรคระบบอื่น ๆ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอดเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะหลังการผ่าตัดใหญ่ ภาวะเลือดออกในสมองและสมองขาดเลือด เป็นต้น


อาการภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก

ผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกเกือบครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ แต่ต้องมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยเฉพาะอัมพาตตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแทน ส่วนอาการที่มาพบแพทย์ก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจง ดังต่อไปนี้

  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ทำกิจวัตรประจำวันหรือออกกำลังกายได้ลดลง
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอกหายใจลำบาก
  • เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมหมดสติ


ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก

  • การตรวจชีพจรและอัตราการเต้นของหัวใจเป็นการตรวจเบื้องต้นที่ง่าย สามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือใช้โปรแกรมในโทรศัพท์มือถือ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เป็นการตรวจที่จำเป็นที่สุดในการวินิจฉัย ซึ่งสามารถทำได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง หรือใช้อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพาที่นอกโรงพยาบาล
  • การตรวจอื่น ๆ ทางห้องปฏิบัติการ เช่น
    • การตรวจหาภาวะโลหิตจางหรือไตวาย
    • การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
    • การตรวจเอกซเรย์ปอด
    • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)



ตรวจชีพจรได้ด้วยตนเอง

  • การบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้ง ทำให้เกิดแรงขับดันโลหิตไปปะทะกับหลอดเลือดแดงที่ยืดหยุ่น แรงปะทะซึ่งสัมผัสได้จากภายนอกบริเวณที่หลอดเลือดแดงอยู่ตื้นติดกับผิวหนังและหายไปเมื่อหัวใจคลายตัวเรียกว่า ชีพจร หากหัวใจเต้นปกติจะสัมผัสชีพจรได้ชัดเจนและมาเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ทิ้งระยะห่างที่คงที่ระหว่างแต่ละครั้ง
  • เบื้องต้นเริ่มฝึกตรวจชีพจรข้อมือก่อน เนื่องจากตรวจได้ง่ายที่สุด เริ่มต้นโดยหงายข้อมือข้างที่ไม่ถนัด คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างที่ถนัดสัมผัสที่ร่องบริเวณใต้ข้อมือด้านฐานของนิ้วโป้งจะคลำได้เส้นเลือดเต้นอย่างชัดเจน เมื่อชำนาญแล้วท่านสามารถฝึกคลำชีพจรที่อื่นได้เช่นกัน เช่น ชีพจรที่คอ สามารถคลำได้ที่ร่องข้างคอหอย แต่ไม่ควรคลำแรง เพราะอาจทำให้หน้ามืดหรือหมดสติได้
  • เมื่อคลำชีพจรได้ชัดเจนแล้ว ขั้นต่อไปให้นับจำนวนครั้งที่คลำได้ใน 1 นาที จำนวนที่นับได้ใน 1 นาทีเรียกว่าความเร็วของชีพจร ระหว่างนับให้สังเกตว่าชีพจรที่คลำได้มีความแรงและจังหวะที่สม่ำเสมอหรือเว้นระยะคงที่หรือไม่
  • ชีพจรผิดปกติ คือ คลำได้ไม่สม่ำเสมอทั้งความแรงและจังหวะ หากตรวจพบให้สงสัยภาวะหัวใจเต้นระริก และควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจยืนยันก่อน เพราะบ่อยครั้งอาจคลำได้ชีพจรมาสะดุดเป็นครั้งคราว ซึ่งลักษณะชีพจรที่ผิดปกติแบบนี้สามารถพบได้และไม่เป็นอันตราย


รักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกและป้องกันโรคสมองขาดเลือด

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกมีวัตถุประสงค์หลักคือ รักษาอาการและลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งลดโอกาสเสียชีวิตและโอกาสต้องเข้าโรงพยาบาล โดยการรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย อาการของผู้ป่วยโรคอื่นที่เป็นร่วมด้วย เป็นต้น โดยมีวิธีการหลักดังนี้

  • การใช้ยาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป (Rate Control) หรือควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้กลับมาเต้นปกติ (Rhythm Control)
  • ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันในอวัยวะสำคัญส่วนอื่นของร่างกายตามมา
  • การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) ให้กลับมาเต้นปกติ
  • การใช้สายสวนหัวใจเพื่อจี้ตัดวงจรไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นความร้อน (Radiofrequency Ablation) หรือความเย็นจัด (Cryoablation) ทำให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ


รู้จักยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด บางครั้งเรียกว่ายาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านระบบการแข็งตัวของเลือดที่ซับซ้อน ยาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นระริกมีอยู่หลายกลุ่มและออกฤทธิ์ต่อระบบการแข็งตัวของเลือดที่ต่างตำแหน่งกัน ได้แก่

  • ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดชนิดต้านวิตามินเค ซึ่งใช้มายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ยาในกลุ่มนี้ คือ ยา Warfarin (Coumadin)
  • ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดโดยยับยั้งสารโปรตีนชนิด Factor Xa ยาในกลุ่มนี้คือยา Rivaroxaban (Xarelto), Apixaban (Eliquis) และ Endoxaban (Savaysa)


ข้อควรระวังเมื่อกินยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

  • กินยาให้ตรงตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ยาจึงมีประสิทธิภาพ
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกมากกว่าคนปกติเช่นกัน จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ และแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบเสมอว่ากำลังกินยาในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะชื่อยาหากทำได้ โดยเฉพาะหากเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ประสบอุบัติเหตุ หรือในกรณีการทำหัตถการต่าง ๆ แพทย์จึงจะสามารถให้ยาถอนฤทธิ์ หรือให้ส่วนประกอบของเลือด เพื่อทำให้ระบบการแข็งตัวของเลือดกลับสู่ปกติได้
  • เฉพาะยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดชนิดต้านวิตามินเค การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคสูง เช่น ผักสีเขียวจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง การกินยาอื่นจะมีผลต่อระดับของยากลุ่มนี้อย่างรุนแรงจึงควรระมัดระวังอย่างมาก รวมทั้งต้องตรวจวัดระดับยาในเลือดเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับยาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมองมากกว่ายากลุ่มอื่น
  • ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดชนิดอื่นที่ไม่ใช่ชนิดต้านวิตามินเคจะออกฤทธิ์สั้นกว่า จึงควรกินยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรกินผิดเวลา แม้ว่ายากลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจวัดระดับยาในเลือด และส่วนใหญ่สามารถกินร่วมกับยาอื่นได้ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารมากกว่ายากลุ่มอื่น และไม่ควรใช้หากการทำงานของไตบกพร่อง
แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com