ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นเร็วอย่าชะล่าใจ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นเร็วอย่าชะล่าใจ
แชร์

ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

โดยปกติหัวใจจะเต้นด้วยอัตรา 60 – 100 ครั้ง/นาที ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง ภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน พบได้จากโรคหัวใจหลายชนิด ทั้งที่พบพยาธิสภาพ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และไม่พบพยาธิสภาพ เช่น ไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร


อาการภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
  • ใจสั่น
  • หน้ามืด
  • เจ็บหน้าอก
  • อ่อนเพลีย
  • ไม่มีแรง
  • เป็นลมหมดสติ
  • หัวใจวาย ขึ้นกับอัตราเร็ว ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งพยาธิสภาพของหัวใจ
อาการที่เกิดกับผู้ป่วยอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือกลัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำว่าอาการทั้งหมดเกิดจากความเครียดและได้รับยาคลายความวิตกกังวลหรือยานอนหลับมารับประทานเป็นระยะเวลานาน โดยอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น จนมีความรู้สึกว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ปัจจุบันการตรวจวินิจจัยทางการแพทย์ดีขึ้นสามารถค้นหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมได้ดีกว่าเดิมมาก


ดูแลเอาใจใส่ลดปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ 

  • ความเครียด 
  • ความวิตกกังวล 
  • ความมุ่งมั่นจนเกินไป 
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • การออกกำลังกายหักโหม 
  • การสูบบุหรี่ 
  • การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมที่มีสารคาเฟอีน  แอลกอฮอล์ 
  • การรับประทานยาหรือฉีดยาที่กระตุ้นหัวใจ



ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดใดและมีพยาธิสภาพของหัวใจร่วมด้วยหรือไม่  แพทย์มักจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง การเดินบนสายพาน (โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย) การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านทางโทรศัพท์ และการกระตุ้นหัวใจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการกระตุ้นหัวใจในห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันนำมาใช้หาสาเหตุในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีความผิดปกติที่หัวใจห้องบน  ความผิดปกติของการนำไฟฟ้าที่หัวใจห้องล่าง  หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ  ผู้ป่วยที่รอดจากการปฏิบัติการกู้ชีพ  และในผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้


รีบรักษาก่อนรุนแรง

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อันจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวประสบปัญหายุ่งยากในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่อัมพาตจนถึงเสียชีวิต ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พบมากที่สุด คือ หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ ชนิดที่เรียกว่า Atrial Fibrillation ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงถึง 10 – 15% ต่อปี เนื่องจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจจากการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหลุดลอยออกไปอุดหลอดเลือดสมอง เกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงขึ้นเมื่อพบร่วมกับโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงเห็นได้ว่าในระยะยาวเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วจะเป็นการยากที่จะรักษาให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีเหมือนเดิม


การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติทำได้โดย

1) การรักษาด้วยยา แพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว เริ่มด้วยยาคลายเครียด แพทย์อาจให้ยาต้านการเต้นผิดปกติหรือยากระตุ้นหัวใจ

2) การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุ โดยใช้สายสวนพิเศษ (Radiofrequency Catheter Ablation) เป็นวิธีการรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่ได้ผลดีถึงดีมาก (80 – 95%) โดยการสอดสายสวนไปวางที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในหัวใจเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจและใช้กระตุ้นหัวใจ หลังจากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนพิเศษเข้าไปอีก 1 เส้น เพื่อหาตำแหน่งที่หัวใจนำไฟฟ้าเร็วกว่าปกติ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ แพทย์จะปล่อยกระแสไฟฟ้าความถี่สูง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ปลายสายสวนพิเศษนี้ ทำให้การนำไฟฟ้าที่จุดนั้นถูกทำลาย หัวใจก็จะไม่เต้นผิดปกติอีกต่อไป

ผู้ป่วยหลายคนมักกังวลว่า
การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุจะมีอันตราย ซึ่งอันตรายจากการจี้ด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุมีน้อยมาก เพราะคลื่นไฟฟ้าที่ใช้มีกระแสไฟฟ้าต่ำประมาณ 40 – 60 โวลต์ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่เนื้อเยื่อหัวใจอุณหภูมิ 55 – 60 องศาเซลเซียส พลังงานนี้จะไม่กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจหรือปลายประสาท ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกเพียงเล็กน้อย จึงสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องวางยาสลบ

3) การฝังเครื่องมือพิเศษ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นเร็วมากจนความดันโลหิตต่ำ คลำชีพจรไม่ได้  หรือเกิดหลายรูปแบบสลับไปมา หรือหัวใจห้องล่างเต้นพริ้ว ถ้าหัวใจไม่เต้นกลับเป็นปกติในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต  แพทย์จะแนะนำให้ฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติที่หน้าอกร่วมกับการรับประทานยาต้านการเต้นผิดจังหวะ ส่วนภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ แพทย์จะฝังเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ชนิดกระตุ้นห้องเดียวและสองห้อง การฝังเครื่องชนิดใดขึ้นกับพยาธิสภาพที่ผู้ป่วยเป็น

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com