หลอดเลือดแดงใหญ่ ภัยเงียบอันตรายร้ายแรง

หลอดเลือดแดงใหญ่ ภัยเงียบอันตรายร้ายแรง
แชร์

หลอดเลือดแดงใหญ่เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดปัญหา เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเสื่อมของผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพองขยายจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ การสูบบุหรี่ เป็นต้น ที่สำคัญคือไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ดังนั้นการหมั่นพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด


ปัญหาหลอดเลือดแดงใหญ่

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรคหลอดเลือดแดงใหญ่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 

1) หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ที่พบได้บ่อย คือ โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง โดยมากมักเป็นคนไข้สูงอายุ เพศชาย อายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่ คนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง จริง ๆ แล้วโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในช่องท้องเท่านั้น แต่เกิดกับหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ทั้งร่างกาย เพียงแต่โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง เป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อย เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่เลือดวิ่งจากหัวใจลงมาเป็นเส้นตรง จนมาถึงทางแยกของหลอดเลือดบริเวณช่องท้อง ซึ่งเป็นจุดไหลเวียนของเลือด มีการกระทบกันในบริเวณนี้ ทำให้เป็นจุดที่มีโอกาสโป่งพองของหลอดเลือดได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก ในกรณีนี้หากหลอดเลือดโป่งพองจนแตกคนไข้มีโอกาสเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลันก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งคิดเป็นจำนวนเกินกว่า 90%  

หลอดเลือดแดงใหญ่ ภัยเงียบอันตรายร้ายแรง

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมักไม่ค่อยแสดงอาการถึง 80% อาจมีเพียงแค่ 20% ที่แสดงอาการ อาการที่พบได้บ่อยและต้องมาพบแพทย์คือ ปวดท้อง (กรณีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง) แพทย์จะดำเนินการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรค เพราะอาการในช่องท้องอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุและอาการมีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจง คนไข้มักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ อาจตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น มาตรวจสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่พบโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ยังโป่งพองไม่มาก อัตราเสียชีวิตในระหว่างผ่าตัดจะมีเพียงแค่ 1 – 3%  ยิ่งรู้เร็วและรีบรักษาอัตราการรอดชีวิตก็จะสูงตามไปด้วย ผนังหลอดเลือดที่เสื่อมอาจมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ อายุ เพศ โดยเพศชายมีโอกาสหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองได้มากกว่าเพศหญิงคิดเป็นอัตราส่วน 4:1 ถือเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ ส่วนปัจจัยที่แก้ไขได้คือ สาเหตุที่มาจากโรคร่วม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ถ้าคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีหลอดเลือดก็จะยิ่งเสื่อมเร็ว หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบ รวมถึงโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองได้ อายุ 30 – 40 ปีก็สามารถมาตรวจร่างกายในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมของแพทย์และเทคโนโลยีการตรวจรักษาเพื่อค้นหาความเสี่ยง 

2) หลอดเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ เนื่องจากผนังของหลอดเลือดแดงที่มีลักษณะเหมือนท่อน้ำ ประกอบด้วยชั้นผนังหลอดเลือด 3 ชั้น คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสเกิดผนังของเส้นเลือดบางส่วนแตกได้ แทนที่เลือดจะไหลเวียนตามท่อปกติ แต่เมื่อหลอดเลือดถูกเซาะจนเกิดการฉีกขาดของผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนตามปกติ หากเกิดกับหลอดเลือดที่ต้องไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง เกิดการแตกเซาะไปเรื่อย ๆ มีโอกาสไปเบียดการไหลเวียนของหลอดเลือดปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ อาจเกิดภาวะสมองตาย หรือหากเป็นหลอดเลือดหัวใจก็อันตรายเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าหลอดเลือดเกิดการแตกเซาะของหลอดเลือดบริเวณไหน อาการสำคัญของโรคหลอดเลือดเซาะฉีก คือ เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เจ็บร้าวไปถึงด้านหลัง 


รักษาหลอดเลือดแดงใหญ่

วิธีการรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองและหลอดเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ คือการผ่าตัดโดยมีเทคนิคในการผ่าตัดรักษาที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 

  1. การผ่าตัดแบบเปิดผ่านทางช่องอกหรือช่องท้อง ขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของหลอดเลือด เพื่อใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน 
  2. การผ่าตัดด้วยวิธีการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาแบบแผลเล็ก มีขนาด 3 – 4 เซนติเมตร เหมาะกับคนไข้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอด มีประวัติการผ่าตัดในช่องท้องหรือช่องอกมาก่อนหลายครั้งหรือเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย 

หลอดเลือดแดงใหญ่ ภัยเงียบอันตรายร้ายแรง


ดูแลสุขภาพหลอดเลือดแดงใหญ่

การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งแรง ได้แก่

  • คนที่มีโรคประจำตัวควรควบคุมให้ดี เช่น ระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิต รับประทานยาควบคุมระดับไขมันในเลือดอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยไม่ให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น 
  • คนที่สูบบุหรี่หากสามารถหยุดสูบได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ 
  • คนที่รู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจร่างกายแต่เนิ่น ๆ และแจ้งให้แพทย์ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเพื่อจะได้เข้ารับการตรวจสกรีนนิ่ง (Screening) ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การทำอัลตราซาวนด์ในช่องท้อง หรือการทำ CT Scan 


ในกรณีที่มีความเสี่ยงของหลอดเลือดโป่งพองในช่องอก หรือในคนไข้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาได้ทันท่วงที 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com