สกรีนจุดเสี่ยงหยุดหลอดเลือดแดงใหญ่แตก
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเหมือนระเบิดเวลาในร่างกายที่พร้อมแตกอยู่ตลอดเวลา คนไข้หลายคนใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายโดยไม่รู้ตัว มักเจออีกทีตอนปริแตก เมื่อถึงเวลานั้นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด ทางเลือกและทางรอดที่ดีคือการตรวจสุขภาพร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่หลอดเลือดแดงใหญ่จะโป่ง พอง และปริแตก
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีสถิติเกี่ยวกับความชุกของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แต่เป็นที่ยอมรับกันในระดับโลกจากการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า ผู้ชายอายุระหว่าง 65 – 75 ปี และมีประวัติสูบบุหรี่หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เมื่อทำการสกรีนนิ่ง (Screening) ในคนกลุ่มนี้จะพบว่ามีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมากกว่า 10% หมายความว่าจากสถิติผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบันที่อายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนประมาณ 15% ของประเทศไทยจึงประมาณการได้ว่า เรามีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 10 ล้านคนจาก 60 – 70 ล้านคนของประชากรในประเทศไทย
ปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ได้แก่
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูงมาจากการรับประทานอาหาร
- ไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เร่งรีบ เคร่งเครียด
แม้ว่าปัจจุบันสถิติการสูบบุหรี่ของคนหนุ่มสาวจะลดลงมาก แต่ในเรื่องของการรับประทานอาหารตามวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีไขมันสูงเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ขณะเดียวกันปัจจัยที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น โรค Marfan Syndrome ที่มีความผิดปกติหลายระบบคือ
- มีรูปร่างสูงผอม
- แขนขาและนิ้วยาว
- เพดานปากสูง
- สายตาผิดปกติ
- มีโรคลิ้นหัวใจรั่วร่วมด้วย
- รวมทั้งโรคเนื้อเยื่ออีกหลายชนิด
คนไข้กลุ่มนี้จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุ 15 ปี มักเป็นทั้งครอบครัว จึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยสอบถามประวัติ อาการ ตรวจร่างกายร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาก่อนที่หลอดเลือดแดงใหญ่จะแตกหรือฉีกขาด บางครั้งอาจต้องรีบผ่าตัดก่อนที่จะแตก เพราะปัจจุบันยังไม่มียาใด ๆ เข้าไปยังยั้งโรคได้ แม้ปัจจุบันกลุ่มผู้ที่มีความชำนาญด้านพันธุกรรมระดับโลกจะมีความพยายามแก้ไขในระดับพันธุกรรม (ยีน) แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่สามารถนำมารักษาคนไข้ได้
แนวทางรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
แนวทางการรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง คือ การตรวจหาความผิดปกติของโรคเพื่อให้การรักษาตั้งแต่แรก แม้ว่ายังไม่มียาที่สามารถชะลออัตราการโป่งขยายของหลอดเลือดแดงใหญ่ได้โดยตรง แต่แพทย์อาจให้ยาบางชนิดซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเสียเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของคนไข้โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองที่เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ เนื่องจากมีปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง อาทิ
- อายุมาก
- เป็นผู้ชาย
- เป็นโรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันสูง
อย่างไรก็ตามกลุ่มคนไข้ที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น เป็นโรค Marfan Syndrome ควรจะได้รับการตรวจหาความผิดปกติของโรคตั้งแต่อายุยังน้อย เริ่มตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งตัวทุกปีไปตลอดชีวิต ส่วนกลุ่มที่เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และในยุโรปยืนยันตรงกันว่า กลุ่มที่สมควรตรวจหาความผิดปกติของโรคคือ ผู้ชายอายุระหว่าง 65 – 75 ปี และมีประวัติสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต หรือคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองควรตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์
เหตุผลที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงจากพันธุกรรมต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพราะสามารถตรวจหาความผิดปกติของโรคได้ทุกระดับตั้งแต่อกยันท้อง เพราะไม่มีใครรู้ว่าหลอดเลือดแดงใหญ่จะโป่งตรงไหนก่อน ส่วนกลุ่มคนไข้ที่เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่มักจะโป่งในช่องท้องก่อน ดังนั้นการตรวจจึงโฟกัสไปที่ช่องท้อง ประกอบกับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์มีความเสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องฉีดสี เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนการเกิดหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก คนไข้บางคนมีอาการเจ็บหน้าอก ขาไม่มีแรง กลืนลำบาก หรือเสียงแหบ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสัญญาณเตือนล่วงหน้ากว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงควรจะเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก
ขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองไม่เกิน 5 เซนติเมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ต้องทำการผ่าตัดรักษา แต่ต้องตรวจสุขภาพและมาพบแพทย์เป็นประจำร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หากโป่งพองมากกว่า 3 เซนติเมตร ต้องตรวจทุกปี โป่งพองมากกว่า 4 เซนติเมตร ต้องตรวจทุก 6 เดือน โป่งพอง 5 เซนติเมตรขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการป้องกันและรักษาแต่เนิ่น ๆ แต่ในกรณีที่โตเร็วมากกว่า 5 มิลลิเมตรใน 6 เดือน หรือ 1 เซนติเมตรใน 1 ปี หรือโป่งพองมากกว่า 5.5 เซนติเมตรขึ้นไปจะมีโอกาสแตกได้มาก จึงเป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดส่วนในช่องอก ถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกตอนต้นโป่งมากกว่า 5 เซนติเมตร ตอนปลายในช่องอกมากกว่า 6.5 เซนติเมตร เป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองควรหยุดสูบบุหรี่ทันที เพราะจะช่วยลดการแตกของหลอดเลือดได้ถึง 4 เท่า นอกจากนี้ควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ แต่ไม่ควรออกกำลังหนัก ๆ หรือยกน้ำหนัก ที่สำคัญคือการตรวจคัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 256 Slice CT Scan จะช่วยให้ผู้ป่วยสัมผัสรังสีน้อยลง และได้รับผลการตรวจละเอียดมากขึ้น