3 อาการต้องสังเกตก่อนหัวใจวาย

3 อาการต้องสังเกตก่อนหัวใจวาย
แชร์

ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวเกิดจากการที่หัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงได้เพียงพอ ซึ่งความรุนแรงของโรคมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ดังนั้นการสังเกตอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรู้เร็วย่อมดูแลตัวเองได้ถูกวิธีและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากหัวใจวายได้

สาเหตุหัวใจวาย

  • เส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง
  • ลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง ทำให้การสูบฉีดเลือดลดลง หรือลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน ทำให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง 
  • กลุ่มโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ 
  • ผู้หญิงครรภ์เป็นพิษ

อาการต้องสังเกตก่อนหัวใจวาย

3 อาการต่อไปนี้อาจกำลังบ่งบอกว่าหัวใจกำลังจะวายหรือล้มเหลว จึงควรสังเกตอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  1. หนื่อยง่าย อาการเหนื่อยอาจบ่งบอกว่าหัวใจมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งความรุนแรงของโรคมักจะสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ หากมีอาการเหนื่อยอยู่ตลอดเวลามักจะสื่อถึงความผิดปกติที่รุนแรง 
  2. แสบแน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปีอาการแสบแน่นหน้าอกที่บ่งบอกว่าหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่จะแน่นบริเวณกลางหน้าอก อาจมีปวดร้าวจากคอขึ้นไปกราม มีอาการตึง ๆ ชาๆ ที่หัวไหล่ไปถึงช่วงแขน รู้สึกเหมือนมีของหนักทับ หากมีอาการเหล่านี้นานเกิน 20 นาที อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง 
  3. อึดอัดเวลานอนราบ อาการอึดอัดเวลานอนราบอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำในหัวใจเพิ่มขึ้นจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติค่อนข้างรุนแรง

3 อาการต้องสังเกตก่อนหัวใจวาย

ตรวจเช็กหัวใจเรื่องสำคัญ

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่เส้นเลือดหัวใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบกับสุขภาพในอนาคตได้ จึงแนะนำให้ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากรู้ถึงความเสี่ยงโรคหัวใจโดยเร็ว ย่อมสามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กหัวใจเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ในระยะยาว 


ตรวจหาคราบหินปูนที่หัวใจ

การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Score หรือ CAC) เป็นการตรวจหาคราบหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ต้องฉีดสีและใช้เวลาตรวจเพียง 10 – 15 นาที ซึ่งคะแนนที่ได้ไม่ควรเกิน 400 คะแนนขึ้นไป เพราะบ่งบอกว่าเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ โดยแพทย์จะทำการประเมินอาการและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจก่อนวัยอันควร

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานระดับสากล โดยมีแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและบุคลากรที่มีความชำนาญ พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยพร้อมทำหัตถการหรือผ่าตัดฉุกเฉินได้ทันที เพื่อลดความรุนแรงของโรคและให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง

นอกจากนี้นายแพทย์วิชัย จิรโรจน์อังกูร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อยากให้ทุกคนดูแลหัวใจในช่วงเทศกาลที่ทุกคนต้องการพักผ่อนและสังสรรค์อย่างเต็มที่อยากให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการรับประมานอาหารและเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ที่สำคัญผู้ป่วยโรคหัวใจต้องพกยาติดตัวไว้เสมอและรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com